p  โปรเกรสซีฟร็อก (Progressive rock) และอาร์ตร็อก (Art Rock) คือสองแนวดนตรีที่เป็นเสมือนคู่ฝาแฝดในกันและกัน อันถือกำเนิดจากนักดนตรีชาวอังกฤษที่พยายามยกระดับดนตรีร็อกให้สูงล้ำขึ้นไป อีกระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นความสลับซับซ้อนของเนื้อดนตรีที่ทวีขึ้นอีกหลายเท่าตัว ความโดดเด่นของเนื้อหาที่ลึกซึ้งราวกับยกมาจากบทกวีในวรรณกรรมโบราณระดับคลา สสิค และการเล่นดนตรีที่หลุดออกจากกรอบของกีตาร์เบสกลองทั่วๆ ไปในช่วงปลายยุค 60

“ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดจากเพียงไม่กี่ประการของสองแนวดนตรีนี้คือ โปรเกรสซีฟ ร็อก นั้นจะมีรูปแบบดนตรีที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมมากกว่า และแนบชิดอยู่กับอิทธิพลของดนตรีคลาสสิค ส่วนเนื้อร้องก็จะให้ความสำคัญกับความสละสลวยทางการประพันธ์มากกว่า หากไม่เป็นการร่ายบทกวีก็จะเป็นเรื่องราวในแบบนิยายวิทยาศาสตร์ ในขณะที่อาร์ตร็อกนั้นจะมีลักษณะของการทดลองและได้รับอิทธิพลของดนตรี อวองการ์ตในปริมาณที่สูงกว่า และทดแทนความทะเยอทะยานในโลกของดนตรีคลาสสิคของเนื้อเสียงที่แปลกใหม่แทน

“ทั้งสองแนวดนตรีแตกต่างจากแวดวงป๊อปที่ขับเน้นซิงเกิ้ลความยาวสามนาที เป็นหลัก ด้วยการนำเสนอบทเพลงในรูปแบบของอัลบั้มเป็นสำคัญ รวมทั้งการประพันธ์เพลงที่ยาวขึ้น มีโครงสร้างซับซ้อนขึ้น และการบรรเลงดนตรีที่ขยับขยายแนวทางและลีลาออกไปอีก และจากประวัติศาสตร์กว่าสามทศวรรษของศิลปินในแนวทางโปรเกรสซีฟร็อก อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเสมือนเอกลักษณ์หนึ่งก็คือ การทำอัลบั้มที่มีเนื้อหารวมศูนย์อยู่ที่แนวคิดรวบยอดเพียงเรื่องเดียวหรือ ที่เรียกกันว่า คอนเซ็ปต์อัลบั้ม (Concept Album) นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของชีวิตศิลปินที่ถือกำเนิดมาหลังจากยุคสงครามโลก ครั้งที่สองของ Pink Floyd (อัลบั้ม The Wall) หรืออัลบั้ม Tales From Topographic Ocean ของ Yes ที่นำแนวคิดมาจากบทความเกี่ยวกับวิถีของโยคี (Autobiography of a Yogi) ในขณะเดียวกันแนวดนตรีสองแนวนี้ก็เป็นแนวทางแรกที่ริเริ่มนำซินซิไซเซอร์และรายละเอียดดนตรีในแบบอิเล็กโทรนิคเข้ามาสู่ดนตรีร็อก

p

 

“เมล็ดพันธุ์แรกๆ ที่ส่งผลออกดอกออกมากลายมาเป็นดนตรี โปรเกรสซีฟ และอาร์ตร็อกในเวลาต่อมานั้นจะจุดเริ่มอยู่ในบทกวีของ Bob Dylan และอัลบั้มในแบบคอนเซ็ปต์อย่าง Freak Out! ของ the Mothers of Invention และ Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band ของวงสี่เต่าทอง the Beatles ซึ่งพิสูจน์ให้โลกเห็นว่ดนตรีร็อกสามารถเป็นได้มากกว่าดนตรีของวัยรุ่น และสามารถนำเสนออย่างจริงจังในรูปแบบของงานศิลปในอีกรูปแบบหนึ่งได้

“ดนตรีโปรเกรสซีฟร็อกได้เติบโตขึ้นอย่างจริงจังภายหลังจากจุดสูงสุดของ ซีนไซคีเดลิคในปี 1967 ด้วยผลงานคลาสสิคอล/ซิมโฟนิก ร็อก (Classical/Symphonic rock) ของ the Nice, Procol Harum และ the Moody Blues ก่อนที่จะสร้างเอกลักษณ์เฉพาะแนวทางขึ้นมาด้วยฝีมือของวง King Crimson กับอัลบั้มชุดแรก In the Court of the Crimson King ในอีกสองปีหลังจากนั้น และเริ่มขยับขยายเป็นสังคมของตัวเองอย่างเด่นชัดที่เมืองแคนเตอร์เบอรี่ที่มี the Soft Machine เป็น หัวหอก จากนั้นก็กลายมาเป็นกระแสหลักของความนิยมในช่วงครึ่งแรกของยุค 70 Emerson, Lake & Palmer, Yes, Jethro Tull, Genesis และ Pink Floyd คือวงดนตรีระดับแนวหน้าในช่วงเวลานั้น ในขณะเดียวกันแวดวงของศิลปินที่มีรูปแบบการนำเสนอที่สลับซับซ้อนกว่านั้นก็ ถือกำเนิดขึ้นในประเทศเยอรมนี

b

 

e

“อย่างไรก็ตาม กระแสความนิยมของดนตรีโปรเกรสซีฟ และอาร์ตร็อก ก็ถึงจุดอิ่มตัวและเสื่อมสลายลงในช่วงครึ่งหลังของยุค 70 พร้อมทั้งถูกแทนที่ด้วยดนตรีที่เรียบง่าย และก้าวร้าวในเนื้อหาอย่างดนตรีพังค์ ที่มีรูปแบบตรงกันข้ามกับความซับซ้อนเข้าใจยากของสองคู่แฝดนี้อย่างโดยสิ้น เชิง ศิลปินในแนวทางนี้ส่วนใหญ่ก็จะล้มหายตายจากไป เหลือเพียงผู้นำกระแสเพียงไม่กี่ราย ซึ่งเกือบทั้งหมดต้องปรับรูปแบบดนตรีเพื่อให้เข้ากับความต้องการของคนฟัง ซึ่งกลายมาเป็นต้นธารแรกของดนตรีโปรเกรสซีฟร็อกในแบบร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น จากผลงานของวงอย่าง Marillion ในยุค 80

“บทเพลงในแบบโปรเกรสซีฟร็อก หรือาร์ตร็อกเริ่มเข้ามามีอิทธิพลของนักดนตรีไทยในช่วงนี้เอง อาทิบางส่วนของเพลงของวง Rockestra ในยุคแรกทั้ง เทคโนโลยี หรือ วิทยาศาสตร์ ทว่าส่วนใหญ่จะจำกัดอยู่ในวงแคบๆ ไม่ว่าจะเป็นอัลบั้ม เรามาร้องเพลงกัน ของ เรวัต พุทธนันทน์ กับวงคีตกวี อัลบั้มของวงอนัตตา และงานเพลงของวง Butterfly Camera Eyes หรือจินตา แม้กระทั่งธเนศ วรากุลนุเคราะห์ก็เคยสร้างสรรค์งานในแนวทางนี้กับอัลบั้ม คนเขียนเพลงบรรเลงชีวิต มาแล้ว แต่ก็เป็นเพียงการจุดประกายเล็กๆ เช่นเดียวกับในต่างประเทศที่ดนตรีโปรเกรสซีฟได้ตายไปจากธุรกิจเพลงไปแล้ว ก่อนที่จะพัฒนาจนกลายเป็นดนตรีโปรเกรสซีฟเมทัลในช่วงยุค 90 ที่สร้างความสำเร็จได้พอสมควร จนเกิดเป็นขบวนการนีโอโปรเกรสซีฟร็อกอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ในงานของ Dream Theater, Ayreon, Spock’s Beard ฯลฯ อันแสดงให้เห็นว่าถึงแม้ว่ารูปแบบดั้งเดิมของโปรเกรสซีฟ หรืออาร์ตร็อกจะเสื่อมความนิยมลง แต่จิตวิญญาณของทั้งสองแนวก็ยังคงแอบแฝงอยู่ในนักดนตรีที่ต้องการนำเสนอบาง สิ่งบางอย่างนอกเหนือจากดนตรีที่ตรงไปตรงมาในแบบมาตรฐานตลอดมาเช่นเดียวกัน”

 

 

ที่มา DDT Magazine

Go to top