ท.ท.ช. ไฟเขียว “แนวทางความร่วมมือในการพัฒนาท่องเที่ยวสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้างสี่เมืองสองประเทศ” มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ หวังเสริมศักยภาพเมืองเชียงคาน ในพื้นที่พิเศษเลย เป็นศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รองรับ AEC
ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือ ท.ท.ช. ซึ่งมี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติรับทราบและสนับสนุนแนวทางความร่วมมือในการพัฒนาท่องเที่ยวสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้างสี่เมืองสองประเทศ คือ จังหวัดเลย-หลวงพระบาง-นครหลวงเวียงจันทน์-จังหวัดหนองคาย ตามที่ อพท.ได้นำเสนอ
ในรายละเอียดของแนวทางความร่วมมือประกอบด้วย การยกระดับด่านประเพณี (ท้องถิ่น) ให้เป็นด่านถาวร การผลักดันการยกระดับด่านประเพณี (ท้องถิ่น) เมืองสานะคาม แขวงเวียงจันทน์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับอำเภอเชียงคาน และด่านบ้านวัง เมืองหมื่น แขวงเวียงจันทน์ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบ้านคกไผ่ อำเภอปากชม ให้เป็นด่านตรวจคนเข้าเมืองถาวรเพื่ออำนวยความสะดวกในการประทับตราหนังสือเดินทาง ทั้งนี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งไปดำเนินงาน
ที่ประชุม ท.ท.ช.ยังสนับสนุนแนวทางการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวจังหวัดเลย-หลวงพระบาง-นครหลวงเวียงจันทน์-จังหวัดหนองคาย การพัฒนาการท่องเที่ยวระหว่างจังหวัดเลย-แขวงไชยะบูลี-เมืองหลวงพระบาง และจังหวัดเลย-แขวงเวียงจันทน์-นครเวียงจันทน์ โดยสามารถกำหนดเส้นทางท่องเที่ยวได้หลายเส้นทาง ได้แก่ เส้นทางเมืองเชียงคาน-เมืองหลวงพระบาง แบ่งเป็น 3 เส้นทางย่อย คือ 1) เมืองเชียงคาน-ท่าลี่ (ถนนเลียบฝั่งแม่น้ำโขง-เหือง)-เมืองไชยะบูลี-เมืองหลวงพระบาง 2) เมืองเชียงคาน-เมืองปากลาย แขวงไชยะบูลี (ล่องเรือลำน้ำโขง)- เมืองหลวงพระบาง (ทางถนน) และ 3) เมืองเชียงคาน-เมืองสานะคาม แขวงเวียงจันทน์(ทางเรือข้ามฟาก) - เมืองหลวงพระบาง (ทางถนน) เส้นทางเมืองเชียงคาน-นครเวียงจันทน์ มี 2 เส้นทาง ย่อย ได้แก่ 1) เมืองเชียงคาน-เมืองหนองคาย-นครเวียงจันทน์ (ล่องเรือตามลำน้ำโขง) 2) เมืองเชียงคาน-เมืองสานะคาม แขวงเวียงจันทน์ (ทางเรือข้ามฟาก)-เมืองวังเวียง-นครเวียงจันทน์ (ทางถนน) ซึ่งที่ประชุมมอบหมาย อพท. และ ททท. รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินงาน
นอกจากนั้นยังเห็นชอบให้ อพท.ศึกษาและสำรวจเพื่อจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการความร่วมมือในการพัฒนาการท่องเที่ยวสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้างช้างสี่เมืองสองประเทศเพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานที่ชัดเจน
ดร.ชูวิทย์กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาดังกล่าวข้างต้นจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่เมืองเชียงคาน หากได้ดำเนินการตามแผน เช่น มีการบริหารจัดการกิจกรรมล่องเรือแม่น้ำโขงให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน การสร้างโครงข่ายเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง คือ เมืองหลวงพระบาง และนครเวียงจันทน์
การท่องเที่ยวแบบโครงข่ายที่เชื่อมโยงกับทางบก (Overland Tourism) ที่ข้ามพรมแดนไปยัง สปป.ลาว ในปัจจุบันโครงข่ายถนนของ สปป.ลาว มีการสร้างเพิ่มขึ้นและเสร็จสมบูรณ์จำนวนมาก ดังนั้นการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมทุกรูปแบบ โดยเฉพาะทางถนนเพื่อเชื่อมโยงไปยังเมืองหลวงพระบาง และนครเวียงจันทน์ สปป.ลาว จะทำให้จังหวัดเลยโดยเฉพาะเมืองเชียงคานจะกลายเป็นประตูทางออก (Gateway) สู่การเชื่อมโยงการค้า การลงทุน ต่อไปจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้นและระยะเวลาการท่องเที่ยวจะยาวนานขึ้น ซึ่งการเปิดประตูของทั้งสองประเทศจะนำไปสู่ความเข้าใจกันและความร่วมมือกันของทั้งสองประเทศในด้านต่างๆ จะนำไปสู่ความสงบสุขสันติของทั้งสองประเทศ
ทั้งนี้ ในแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่พิเศษเลย อพท.ได้กำหนดบทบาทของเมืองเชียงคาน (Chiang Kang Position) ว่าเป็นเมืองน่าอยู่น่าเที่ยวที่เงียบสงบ เหมาะสมกับการพักผ่อน และการเรียนรู้วิถีชีวิตริมโขงร่วมกับชุมชนในพื้นที่ ตลอดจนการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว หากโครงการความร่วมมือในการพัฒนาท่องเที่ยวสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้างสี่เมืองสองประเทศเป็นผลสำเร็จ จะเป็นการสร้างรากฐานของการท่องเที่ยวเติบโตอย่างยั่งยืน รองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเชื่อมโยงภายหลังการเปิด AEC
จากการเก็บข้อมูลของ อพท.พบว่า ช่วงระหว่าง พ.ศ. 2547-2556 จังหวัดเลยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มจาก 769,000 คน เป็น 1,957,000 คน หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 14.27% มีรายได้จากนักท่องเที่ยว 892.52 ล้านบาท เพิ่มเป็น 3,131.2 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 19.6% โดยเมืองเชียงคานมีจำนวนนักท่องเที่ยวในรอบ 10 ปี เพิ่มจาก 25,116 คน เป็น 591,184 คน หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 57% รายได้จาก 22.6 ล้านบาท เพิ่มเป็น 886.78 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 68.9%
สำหรับ สปป.ลาว ช่วงเวลา 13 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543-2556 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไปยัง สสป.ลาว เพิ่มจาก 740,000 คน เป็น 3,780,000 คน หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 26.23% รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มจาก 113.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 516 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 24% สัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้า สปป.ลาวมากสุด คือ ชาติอาเซียน คิดเป็น 54.5% ประเทศนอกอาเซียน 11.4% นักท่องเที่ยวจากยุโรป 5.6% จากทวีปอเมริกาเหนือ 2.3% จากประเทศแอฟริกา และตะวันออกกลาง 0.2% ซึ่งในภาพรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้า สปป.ลาวทั้งหมด มีนักท่องเที่ยวคนไทยถึง 34.5%
ขอขอบคุณ ผู้จัดการออนไลน์