คุณยุนี สาวเมืองเลยไทบ้านนาบอนเรานี่เอง หนึ่งในช่างสิบหมู่ของคนไทย ..สาวเสื้อม่วงหนึ่งในผู้ที่เข้าซ่อมองค์พระพรหม..หน่อเนื้อสายศิลป์ลูกหลานไทเลย ศิษย์เก่าคณะศิลปประยุกต์ วอศ.เลย และอดีตสาวน้อยจากรั้วสถาบันเพาะช่าง กับประวัติศาสตร์การซ่อมงาน...ที่ดังไปทั่วโลก...ชื่อคุณยุนี คนเมืองเลยเด้อครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ป้าติ้งคนงาม ผู้เสพติดการทัศนากล้วยไม้ป่าและน้ำพริกอ่อง
//ความรู้เพิ่มเติมเรื่องช่างสิบหมู่ //
ช่างสิบหมู่ เป็นกลุ่มช่างซึ่งรวบรวมกันเข้าเป็นกรมหนึ่ง เข้าใจกันว่ามีมาเก่าแก่ครั้งสมัยอยุธยา แต่ว่าไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ช่างสิบหมู่ก็ปรากฏตัวตนอย่างชัดเจน ดังจากกฎหมายเก่าตอนทำเนียบศักดินาว่าด้วยช่างสิบหมู่
คำว่า |ช่างสิบหมู่| นั้นเองที่สร้างความฉงนฉงายและก่อให้เกิดมติไปได้หลายทาง บางท่านกล่าวว่า คำว่า |สิบ| มาจากคำว่า|สิปปะ| ในภาษาบาลี ซึ่งตรงกับคำว่า |ศิลปะ | ในภาษาสันสกฤตบางท่านกล่าวว่า หมายถึง |สิบ ๆ| อันเป็นวิธีเรียกรวมในสิ่งที่ยากแก่การนับ นั่นหมายถึงว่ามีเป็นจำนวนมาก
พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ ผู้ควบคุมช่างสิบหมู่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้แต่งโคลงบอกชื่อหมู่ช่างที่ท่านควบคุมดังนี้
เขียน, กระดาษ, แกะ, หุน, ปั้นปูน, รัก, บุ, ฮากลึง, หล่อ, ไม้สูง, สลัก, ช่างไม้..
สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ก็ได้ทรงแสดงมติเกี่ยวกับคำว่า |ช่างสิบหมู่| ไว้ในทำนองที่ว่า คงมิได้มีความหมายอย่างตายตัวว่ามีเพียงสิบหมู่เท่านั้น เพียงแต่ว่าในระยะแรกอาจจัดไว้เพียงสิบหมู่ ต่อมาภายหลังจึงผนวกกันเข้ามาตามความจำเป็นของงาน เพราะในการช่างบางอย่างมิได้มีงานตลอดทั้งปี แต่จะมีงานต่อเมื่อมีโอกาสพิเศษ นอกจากนั้นเมื่อดูจากทำเนียบช่างหลวงก็พบว่าได้ออกชื่อช่างต่าง ๆ นับแล้วได้ถึง ๒๙ ช่าง ดังต่อไปนี้
ช่างเลื่อย
ช่างก่อ
ช่างดอกไม้เพลิง
ช่างไม้สำเภา
ช่างปืน
ช่างสนะ (ไทย)
ช่างสนะ (จีน)
ช่างขุนพราหมณ์เทศ
ช่างรัก
ช่างมุก
ช่างปากไม้
ช่างเรือ
ช่างทำรุ
ช่างเขียน
ช่างแกะ
ช่างสลัก
ช่างกลึง
ช่างหล่อ
ช่างปั้น
ช่างหุ่น
ช่างบุ
ช่างปูน
ช่างหุงกระจก
ช่างประดับกระจก
ช่างหยก
ช่างชาดสีสุก
ช่างดีบุก
ช่างต่อกำปั่น
ช่างทอง
ในช่างที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ในบางชื่อคงไม่เป็นที่ค้นหูนัก ที่พอจะอธิบายได้ในที่นี้บ้าง เช่น ช่างขุนพราหมณ์เทศ เป็นช่างที่ทำหน้าที่ทำเครื่องบวงสรวงบัดพลีสังเวยต่าง ๆ อันเป็นพิธีพราหมณ์ในราชสำนัก ช่างทำรุ บางท่านว่าเพี้ยนมาจากคำว่า ปรุ หรือ ฉลุ แต่บางท่านอธิบายว่าเป็นพวกช่างรื้อถอน ส่วนช่างสนะ หมายถึง ช่างเย็บเสื้อผ้า
คราวนี้ขอขยายความขอบข่ายการทำงานของช่างสิบหมู่อย่างกว้าง ๆ และเหตุที่ยกมาเพียงสิบช่างเพราะเป็นช่างที่ยังกระทำสืบทอดมาถึงปัจจุบัน
๑. ช่างเขียน นับว่าเป็นแม่บทของกระบวนช่างทั้งหลาย เพราะไม่ว่าจะเป็นงานช่างใดจำเป็นต้องอาศัยการเขียน การวาดทั้งนั้น ในวงการช่างเขียนนั้น ผู้ที่จะมาเป็นช่างได้จะต้องเขียนได้ทั้งลายและภาพตามหมวด ๔ หมวด คือ กนก นารี กระบี่ คชะ
กนก หมายถึง รูปแบบลายต่าง ๆ
นารี หมายถึง ภาพคน หรือภาพมนุษย์ ภาพเทวดา นางฟ้า
กระบี่ ก็ไม่ได้หมายถึง วานรอย่างเดียวแต่รวมพวกอมนุษย์ด้วย
หมวดคชะ หมายถึง สัตว์ต่าง ๆ ซึ่งส่วนมากเป็นสัตว์หิมพานต์
๒. ช่างแกะ นอกจากงานของช่างแกะจะเป็นพวกการแกะไม้เป็นหน้าบันวัดหรือวังแล้ว ยังรวมถึงการแกะงาช้างให้เป็นดวงตราพระราชลัญจกรอีกด้วย
๓. ช่างสลัก หมายถึง ช่างที่ทำลวดลายและรูปบนวัสดุอีกแบบหนึ่งในสมัยก่อนมักนิยมเรียกว่า การฉลัก ในสมัยก่อนช่างสลักหรือฉลักแบ่งออกเป็นสองอย่าง คือ ช่างสลักกระดาษและช่างสลักของอ่อนที่เรียกว่า เครื่องสด การสลักกระดาษนั้นทำด้วยการตอกลายให้เป็นรูปร่างต่าง ๆ เพื่อประดับพลับพลาหรือเมรุ ส่วนการสลักของอ่อนก็คือการสลักหยวกในการแต่งพระเมรุหรือสลักผลไม้
๔. ช่างปั้น ช่างนี้ไม่ค่อยมีผลงานให้เห็นชัดเจนนัก เพราะงานส่วนมากรู้จักกันในนามของช่างหล่อ ดังนั้นงานปั้นจึงแฝงอยู่ในช่างหล่อเกือบทั้งหมด
๕. ช่างหล่อ ก็ได้แก่ช่างหล่อโลหะสำริด เป็นเครื่องมือเครื่องใช้หรือพระพุทธรูป เทวรูป
๖. ช่างหุ่น ได้แก่ช่างที่ทำหุ่นกระบอกหรือหุ่นละครเล็ก
๗. ช่างปูน นับว่าเป็นช่างที่เกี่ยวพันกับพุทธศาสนาค่อนข้างมาก เช่น การก่อสร้างศาสนสถานต่าง ๆ หรือพระพุทธรูปปูนปั้น งานช่างปูนปั้นที่เลื่องลือกันมากก็คือ ฝีมือเมืองเพชร
๘. ช่างรัก ในงานศิลปะไทยมักจะมีช่างรักแทรกอยู่ในหมู่ช่างต่าง ๆ เช่น ร่วมกับช่างมุกในงานประดับมุก หรือในการลงรักปิดทองประดับกระจก งานช่างรักยังรวมถึงการทำเครื่องเขิน หัวโขน
๙. ช่างบุ คำว่า บุ หมายถึง การตีแผ่ให้แบนออกเป็นรูปต่าง ๆ ช่างบุนี้จึงเกี่ยวพันกับงานโลหะ งานของช่างบุ เช่น การทำบาตรพระบุทองคำหรือเงินเพื่อหุ้มพระพุทธรูป หรือในงานประณีตมาก ๆ เช่นเครื่องราชูปโภค หรือเครื่องประดับ
๑๐. ช่างกลึง งานกลึงในศิลปะไทยนั้นมีความประณีตไม่แพ้งานช่างแขนงอื่น ในภาคเหนือมีกลองประเภทหนึ่งเรียกว่า กลองแอ หรือกลองแอว ขนาดยาว ๖ เมตร กว้างเกือบ ๒ เมตร กลึงจากไม้ซุงทั้งท่อนหรือไม่ก็อาจเป็นการกลึงงาช้างให้เป็นตลับงาขนาดลดหลั่นกันลงไป ซึ่งนิยมกันมากในสมัยรัชกาลที่ ๕
“ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี”