"...สาเหตุที่ผู้ประกอบต้องปล่อยเช่าช่วงประทานบัตรต่อให้กับเอกชนรายอื่น เป็นเพราะภายหลังจากที่ได้ประทานบัตรมาแล้ว ประสบปัญหาทางธุรกิจ ไม่สามารถทำธุรกิจได้ จึงต้องให้เอกชนรายอื่นมาเช่าช่วงต่อ สำหรับคิดตอบแทนที่ตกลงและลงนามในสัญญาก็อยู่ที่ประมาณ 8 บาท ต่อตัน.." 
นับเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญเข้ามาตรวจสอบข้อมูล เพื่อทำความจริงให้ปรากฎ 
 
สำหรับกรณีมีผู้ทำหนังสือร้องเรียนไปถึงศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเลย ให้เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงการทำธุรกิจโรงโม่หินของเอกชนรายหนึ่ง ที่เช่าโรงโม่หินและเช่าช่วงประทานบัตรเหมืองหินต่อมาจาก ห้างหุ้นส่วนจำกัดรายหนึ่ง ในจ.เลย ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน 2551
 
แต่ปรากฎว่าเอกชนรายนี้ ที่มาเช่าช่วงได้เข้าไปก่อสร้างและติดตั้งเครื่องโม่หินเพิ่มเติมและมีการใช้ทรัพยากรของเหมืองเดิมที่เข้าช่วงต่อมา กับโรงโม่หินที่สร้างขึ้นใหม่ด้วย
 
ขณะที่การชำระค่าภาคหลวงแร่ทุกเดือน ไม่ได้มีการแจ้งปริมาณแร่หินที่ขนมาจากโรงโม่หินใหม่ที่เข้าไปสร้างเพิ่มเติม ชี้ให้เห็นเจตนาที่จะหลบเลี่ยงการนำทรัพยากรของประเทศไปใช้เพื่อหาประโยชน์ส่วนตน โดยไม่จ่ายค่าตอบแทนให้รัฐ ซึ่งคิดเป็นหลักร้อยล้านบาท
 
(อ่านประกอบ : ร้องสอบเอกชนเช่าช่วงประทานบัตรเหมืองหิน จ.เลย ไม่จ่ายค่าภาคหลวงนับร้อยล.)
 
กรณีนี้ มีข้อสังเกตที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาและทำความจริงให้กระจ่าง  2 ส่วนหลัก คือ
 
1. เอกชนที่มาเช่าช่วงประทานบัตรเหมืองหิน มีพฤติการณ์จงใจ ที่จะเข้ามาแสวงหาประโยชน์ โดยเฉพาะการหลบหลีกไม่จ่ายค่าตอบแทนให้กับรัฐ ตามข้อกล่าวหาจริงหรือไม่
 
2. หจก.ที่ได้รับประทานบัตรเหมืองหินไป ทำไมถึงต้องเปิดให้เช่าช่วงต่อ
 
ทั้งนี้ ในส่วนของข้อสังเกตแรกนี้ คงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานตรวจสอบที่จะต้องเข้าไปติดตามตรวจสอบ หลังจากที่มีการยื่นเรื่องร้องเรียนไปที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเลย เลยแล้ว และให้ความเป็นธรรมกับเอกชนที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ 
 
แต่ในส่วนข้อสังเกตที่สอง จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น ของสำนักข่าวอิศรา พบว่า พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 มาตรา 76 กำหนดว่า "ห้ามมิให้ผู้ถือประทานบัตรยอมให้ผู้อื่นรับช่วงการทำเหมืองไม่ว่าเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของเขตเหมืองแร่ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมาย"
 
มาตรา 77 กำหนดว่า เมื่อผู้ถือประทานบัตรประสงค์จะให้ผู้อื่นรับช่วงการทำเหมืองให้ยื่นคำขอต่อเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมแร่ประจำปี ระบุบุคคลผู้จะรับช่วงการทำเหมืองในระยะเวลาใดเวลาหนึ่งภายในอายุของประทานบัตร และส่วนของเขตเหมืองแร่ที่จะให้รับช่วงการทำเหมือง
 
รัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมายเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้มีการรับช่วงการทำเหมืองได้ตามที่จะพิจารณาเห็นสมควร และในการนี้จะกำหนดเงื่อนไขใดๆ ในใบอนุญาตนั้นก็ได้ผู้ถือประทานบัตรที่ได้ให้ผู้อื่นรับช่วงการทำเหมืองดังกล่าวในวรรคหนึ่ง คงมีหน้าที่และรับความรับผดตามกฎหมายและให้ผู้รับช่วงการทำเหมืองนั้นมีสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมายเสมือนเป็นผู้ถือประทานบัตรด้วย
 
คำถามที่น่าสนใจคือ ในกรณีการเช่าช่วงประทานบัตรเหมืองแร่ จ.เลยที่กำลังปรากฎเป็นข่าวนี้ ได้ดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในพรบ.ฉบับนี้หรือไม่ โดยเฉพาะการขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และเจ้าหน้าที่รัฐใช้หลักการและเหตุผลอะไรในการพิจารณาอนุญาตให้มีการปล่อยให้เช่าช่วงได้? 
 
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา ได้รับการเปิดเผยจากผู้ประกอบการเหมือง ที่ได้รับประทานบัตรการทำเหมืองแร่จากรัฐรายหนึ่งว่า สาเหตุที่ผู้ประกอบต้องปล่อยเช่าช่วงประทานบัตรต่อให้กับเอกชนรายอื่น เป็นเพราะภายหลังจากที่ได้ประทานบัตรมาแล้ว ประสบปัญหาทางธุรกิจ ไม่สามารถทำธุรกิจได้ จึงต้องให้เอกชนรายอื่นมาเช่าช่วงต่อ 
 
สำหรับคิดตอบแทนที่ตกลงและลงนามในสัญญาก็อยู่ที่ประมาณ 8 บาท ต่อตัน ของแร่ที่เอกชนที่มาเข้าช่วง ขุดเจาะและนำออกไป และภารหน้าที่ในการจ่ายค่าภาคหลวงให้กับรัฐก็จะตกเป็นของเอกชนที่มาเข้าช่วงต่อ 
 
"ส่วนการเข้าไปควบคุมกำกับดูแลเอกชนรายใหม่ ที่มาเข้าช่วงประทานบัตรเพื่อทำธุรกิจต่อ ยอมรับว่าเราคงไม่ได้เข้าไปควบคุมอะไรเขา เพราะถ้าต้องทำแบบนั้น เราก็จะต้องไปเสียเงินค่าจ้างคนงานเข้าไปดูแลอีก"
 
"การเปิดให้เช่าช่วงเหมืองแร่ ถือเป็นหนึ่งช่วงทางในการทำธุรกิจที่ดี และถ้าเราได้รับประทานบัตรจากรัฐรอบใหม่อีก เราก็จะเปิดให้มีการเช่าช่วงอีก เพราะไม่ต้องลงทุนธุรกิจเอง และได้ยังได้รับค่าตอบแทนที่ดีด้วย" ผู้ประกอบการธุรกิจเหมืองที่ได้รับประทานบัตรต่อจากรัฐรายหนึ่งระบุ 
 
ขณะที่ในหนังสือร้องเรียน ของบุคคลที่แจ้งไปถึงศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเลย ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานศูนย์ฯ  ระบุว่า "ที่ผ่านมาเคยมีการร้องเรียนเรื่องนี้ไปถึงข้าราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาตรวจสอบแล้ว แต่เรื่องก็เงียบหายไป ทั้งที่มีการกระทำความผิดมาเป็นระยะเวลากว่า 4 ปีแล้ว ทำให้ปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไข รัฐเสียหายเป็นจำนวนเงินนับร้อยล้านบาท แทนที่จะได้เงินส่วนนี้มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศด้วย "
 
และนอกเหนือจากการร้องเรียนไปที่ศูนย์ดำรงธรรมจ.เลยแล้ว ยังได้มีการทำเรื่องร้องไปที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงอุตสาหกรรม ให้เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงสายวันที่ 1 ต.ค.2558 ที่ผ่านมา ได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เพื่อขอทราบแนวทางเกี่ยวกับการป้องกันดูแลปัญหาการปล่อยเช่าช่วงประทานบัตร แต่ยังไม่ได้รับข้อมูล
 
โดยผู้ติดตามระบุว่า ผู้ว่าฯ ติดภารกิจอยู่ ขอให้ทิ้งเรื่องไว้จะติดต่อกลับมาอีกครั้ง 
 
 
 
 
 
 
ขอขอบคุณ http://www.isranews.org/เรื่องเด่น-สำนักข่าวอิศรา/item/41731-report_41731.html
Go to top