pookradoung

”สิ่งที่เรามองอันหนึ่ง ก็คือว่า การท่องเที่ยวจริงๆ เนี่ยนะครับ ซึ่งจริงๆ เราไม่ได้ใช้คำว่า ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เราใช้คำว่า ท่องเที่ยวเชิงผจญภัย เพราะขึ้นไปก็ทำลายกันไปเรื่อยเปื่อย...” ดร.ทวีวงศ์ ศรีบุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

"ผมเคยเดินขึ้นๆ ลงๆ สมัยเด็กๆ ขึ้นบ่อย ขึ้นหลายครั้ง ทางที่เดินขึ้นมันเริ่มขยายเพราะอะไร มันเริ่มทำลายสิ่งแวดล้อมสองข้างทางตลอด ทิ้งขยะ ตลอดทาง....” นายประเสริฐ กมลวัทนนิศา ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ เลย (อพท.5)

"คนภูกระดึง เรามีอาชีพทำการเกษตร มีหนี้สินมากมายเพิ่มขึ้น อันนี้เป็นมาหลายชั่วอายุคนแล้ว เราก็ต้องการกระเช้าภูกระดึง เพื่อให้การท่องเที่ยวดีขึ้น" นายพงษ์สันต์ ด่านพงษ์ ผู้สนับสนุนการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง

นี่เป็นความคิดเห็นของนักวิชาการ และเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ออกแบบโครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าบนภูกระดึง จ.เลย ด้วยงบประมาณ 20 ล้านบาท งานวิจัยที่ถูกกล่าวหาว่า ได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน

การกล่าวหานี้ อาจจะดูรุนแรง แต่หากใครได้มีโอกาสได้อ่านงานวิจัยที่ใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง และรู้จักพื้นที่บนภูกระดึงเป็นอย่างดี จะทราบว่าข้อมูลน่าจะมีปัญหาจริงๆ เพราะหลายส่วนยังคงมีความเคลือบแคลง โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับผลกระทบต่อระบบนิเวศทั้งหมด, การบริหารจัดการหลังจากมีกระเช้า และผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของลูกหาบและร้านค้า

ภูกระดึง เป็นป่าดิบเขาที่มีลักษณะเฉพาะตัว ป่าดิบเขาเช่นนี้ ทั้งโลกมีเพียงแค่ 3% จึงต้องจัดให้เป็นพื้นที่เปราะบางต่อการถูกทำลายมากกว่า การอ้างว่ากระเช้าสามารถนำนักท่องเที่ยวขึ้นไปได้วันละ 4,000 คน แล้วจะควบคุมดูแลอย่างไร ในเมื่อนักท่องเที่ยวที่มีอยู่ยังดูแลไม่ทั่วถึง และคำถามที่ไม่เคยได้รับคำตอบอย่างชัดเจนก็คือ

1.เมื่อเดินขึ้นไปไม่ได้ แล้วจะเดินเที่ยวอย่างไร? เพราะการเที่ยวชม จะต้องเดินวันละไม่ต่ำว่า 20 กิโลเมตร

2.เมื่อสร้างกระเช้าแล้ว จะต้องสร้างถนนอีกนับสิบกิโล เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวหรือไม่?

3.อ้างว่าจะมีการะเช้าไว้ขนขยะ แต่ทำไมต้องลงทุนถึงกว่า 600 ล้านบาท เพื่อขนขยะ ขณะที่ปัญหาขยะในทุกอุทยานสามารถบริหารจัดการได้ด้วยระเบียบและกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ แต่ละซำนั้นก็ไม่ปรากฏว่ามีขยะที่เป็นปัญหาแต่อย่างใด หนำซ้ำในรายงานสนับสนุนการสร้างยังบอกไว้ว่า จะใช้พื้นที่ 30 ไร่ เพื่อกลบฝัง

4.หากการกล่าวอ้างว่า เส้นทางการเดินขึ้นภูกระดึงเป็นการรบกวนสัตว์ป่า ก็คงจะต้องปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ในทุกอุทยานเช่นกัน หรือไม่?

5.ถ้ามีกระเช้าภูกระดึงเกิดขึ้น อุทยานแห่งชาติที่อื่นๆ จะเอาไปเป็นแบบอย่างอีกหรือไม่?

ทั้ง 5 ข้อนี้ ยังเป็นปัญหาที่ไม่ได้ถูกระบุไว้ในโครงการสร้างกระเช้า เพียงแต่กล่าวอ้างถึงเศรษฐกิจว่าจะดีขึ้น แต่ไม่สามารถตอบได้ว่า เศรษฐกิจใครจะดีขึ้น?

สิ่งสำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งที่หมกเม็ดในงานสนับสนุนการสร้างกระเช้าก็คือ ลูกหาบ และร้านค้า ที่บอกว่าจะมีงานเพิ่ม มีรายได้เพิ่ม แต่ไม่สามารถลงรายละเอียดได้เลยสักอย่างว่า จะได้งานอย่างไร

ปกติภูกระดึง เปิด 8 เดือน ปิด 4 เดือน ดังนั้น คาดการณ์รายได้ที่ต่ำสุดแล้วยังได้ถึงประมาณปีละ 100 ล้านบาท นี่คือตัวเลขทางเศรษฐกิจ ที่หมุนเวียนอยู่ในชุมชนของชาวภูกระดึง และเป็นรายได้ที่ถึงมือของชาวบ้านโดยตรง ทำให้ลูกหาบและร้านค้ามีความสามารถในการดำรงอยู่ ส่งเสียบุตรหลานเข้ารับการศึกษา โดยไม่เดือดร้อน และเป็นหนี้สินมากมาย เหมือนที่พยายามกล่าวอ้าง

แต่การมาของกระเช้านั้น รายได้จำนวนนี้จะปลี่ยนไปและไม่มีวันถึงมือชาวบ้านในทางตรงแบบเดิมอีกเลย

ทางออกในเรื่องนี้จึงควรให้มีการเปิดการเสวนารอบใหม่ ที่เป็นเวทีสาธารณะจริงๆ รับฟังข้อมูลจริงในทุกๆ ด้าน และให้เวลามากพอ โดยที่ไม่รีบทำรีบเสร็จ ควรทำอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ที่ทั่วโลกเขายอมรับกันได้

เพื่อให้เกิดการยอมรับ โดยเฉพาะทุกชุมชนรอบภูกระดึงและประชาชนทั่วไป จะได้เลิกถามม้า ตอบช้างกันเสียที

ขอขอบคุณบทความจาก http://www.komchadluek.net/detail/20150219/201609.html

Go to top