ตะวันลับฟ้า'พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก'
ตะวันลับฟ้า'พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก'ถึงแก่อนิจกรรม
               แวดวงข้าราชการและการเมืองไทยต้องสูญเสียบุคคลสำคัญที่มีบทบาทอย่างสูงในหลายสถานภาพ เมื่อ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ถึงแก่อนิจกรรมที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ สิริอายุได้ 89 ปี โดยเวลาประมาณ 12.00 น. วันที่ 20 มกราคม 2558 จะมีพิธีเคลื่อนย้ายศพจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เพื่อไปบำเพ็ญกุศลที่ศาลา 100 ปี วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร และจะมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพในเวลา 17.00 น. โดยมี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ จะมาเป็นประธาน
 
               ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปอดีต จะเห็นว่า "บิ๊กซัน" พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก เป็นอีกหนึ่งนายทหารที่โด่งดังไม่น้อย โดยเฉพาะผ่านสนามรบกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ สมัยที่คุมกำลังอยู่ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 ก่อนจะเข้ามารับผิดชอบในพื้นที่ กทม.ในตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 และเป็นผู้คุมกำลังในการยับยั้งการเผชิญหน้าระหว่างทหารกับประชาชน จนได้รับฉายาว่า "วีรบุรุษมัฆวาน"
 
               ผลงานที่สำคัญของ พล.อ.อาทิตย์ คือ การปฏิบัติราชการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ตั้งแต่ปี 2511-2524 โดยขณะดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับการกรมผสมที่ 23 จังหวัดเลย จนกระทั่งเลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการกองพลที่ 3 การปฏิบัติงานปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ โดย พล.อ.อาทิตย์ ได้ยึดถือหลักการเมืองนำการทหาร และชักนำประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมปกป้องท้องถิ่นของตน โดยจัดตั้ง "ไทยอาสาป้องกันตนเอง" (ทสป.)
 
               นอกจากนี้ยังทำการฝึกการใช้อาวุธ อบรมจิตใจให้มีความรักหวงแหนถิ่นกำเนิด การฝึกดังกล่าวกลายเป็นงานสำคัญระดับชาติในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ต่อมาได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น "ไทยอาสาป้องกันชาติ" (ทสปช.) สามารถสกัดกั้นการขยายตัวของฝ่ายก่อการร้าย อีกทั้งยังก่อให้เกิดความสามัคคีและเป็นที่เชื่อถือ ศรัทธา ของประชาชนทุกหมู่เหล่า
 
 
               สำหรับประวัติของ พล.อ.อาทิตย์ นั้น เกิดวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2468 เป็นบุตรของ ร.ต.พิณ และนางสาคร กำลังเอก ชีวิตครอบครัวสมรสกับ ท่านผู้หญิงประภาศรี กำลังเอก (3 ก.พ.2474-11 มี.ค.2526) มีบุตรธิดารวม 3 คน และสมรสใหม่อีกครั้งกับ คุณพรสรร กำลังเอก (พรประภา/ลูกสาว ดร.ถาวร-ดร.อุษา พรประภา ผู้ก่อตั้งบริษัทสยามกลการ) นายกสมาคมฟุตวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย
 
               ตำแหน่งในแวดวงราชการ อดีตผู้บัญชาการทหารบก อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดของไทย และอดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเลย สำเร็จชั้นประถมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนพรหมวิทยามูล เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร (โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรในปัจจุบัน) สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปี พ.ศ.2484 และโรงเรียนอำนวยศิลป์ พระนคร เข้าศึกษาโรงเรียนเตรียมทหารบก รุ่นที่ 5 ระหว่าง พ.ศ.2487-2491 รุ่นเดียวกับ พล.อ.เทียนชัย ศิริสัมพันธ์, พล.อ.บรรจบ บุนนาค และพล.อ.อ.ประพันธ์ ธูปะเตมีย์
 
               อย่างไรก็ตาม เส้นทางชีวิตในการรับราชการของ พล.อ.อาทิตย์ ยังคงเป็นไปด้วยความโดดเด่นต่อเนื่อง ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 2 เป็นช่วงที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเวลานั้น พล.อ.เปรมโดนทหารกลุ่มหนึ่งทำการปฏิวัติ ทำให้ พล.อ.เปรมต้องไปตั้งหลักที่กองทัพภาคที่ 2 ก่อนจะควบคุมสถานการณ์ได้สำเร็จ 
 
               เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ พล.อ.อาทิตย์ เป็นที่ไว้วางใจต่อผู้ที่มีอำนาจทางการเมืองอย่างยิ่ง จนได้รับการผลักดันให้ก้าวขึ้นมาในตำแหน่งที่สูงขึ้นตามลำดับ !
 
               พล.อ.อาทิตย์ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2525 สืบต่อจาก พล.อ.ประยุทธ จารุมณี ที่เกษียณอายุราชการ จากนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2526 สืบต่อจาก พล.อ.สายหยุด เกิดผล โดยดำรงตำแหน่งทั้งสองควบคู่กัน
 
               ขณะนั้นรัฐบาลของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งมี นายสมหมาย ฮุนตระกูล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีการลดค่าเงินบาท เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2527 ถึง 14.8% จาก 23 บาท เป็น 27 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ พล.อ.อาทิตย์ ซึ่งขณะนั้นได้ฉายาว่า "บิ๊กซัน" เพราะมีอำนาจบารมีมาก ได้รับแรงหนุนทั้งจากฝ่ายทหาร และฝ่ายการเมือง ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนั้นมีปัญหาทั้งเรื่องการส่งออกข้าว และท้ายสุดเรื่องค่าเงินบาท
 
               ทั้งหมดนั้นนำมาซึ่งการไม่ต่ออายุราชการของ พล.อ.อาทิตย์ รุ่งเช้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับพาดหัวตัวใหญ่ว่า "ปลด อาทิตย์" ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก โดยมีผลเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2529 และแต่งตั้ง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบก ดำรงตำแหน่งแทน
 
               อย่างไรก็ตาม หลังจากเหตุการณ์ปลดผู้บัญชาการทหารบกครั้งประวัติศาสตร์ ก็มีการนำข้อมูลความพยายาม "ลอบสังหาร" พล.อ.อาทิตย์ รวมถึง 9 ครั้ง ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด ออกมาเปิดเผยในเวลาต่อมา เพราะในช่วงนั้นบ้านเมืองนอกจากนักการเมืองแล้ว มี 3 ขั้วอำนาจ คือ ขั้วรัฐบาล ขั้ว พล.อ.อาทิตย์ และขั้วนายทหารยังเติร์ก
 
               หลังจากเกษียณราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.อาทิตย์ ได้เข้ามาเล่นการเมือง โดยก่อตั้งพรรคปวงชนชาวไทย ลงสมัครเป็น ส.ส. และได้รับการแต่งตั้งเป็น รมช.กลาโหม ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ แต่ยังไม่ทันได้ปฏิบัติหน้าที่ พล.อ.ชาติชาย ก็ถูกจี้จับตัว ขณะจะเดินทางไป อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 ตามคำสั่งของคณะ รสช. ซึ่งนำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในขณะนั้น
 
               จากนั้นมีการเสนอชื่อให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี กระทั่งเกิดความไม่พอใจจากมวลชน จากคำพูดที่ว่า "เสียสัตย์เพื่อชาติ" มีการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่และเกิดการปราบปรามโดยทหาร ที่เรียกว่า เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
 
               ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พรรคปวงชนชาวไทยของ พล.อ.อาทิตย์ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น พรรคชาติพัฒนา โดยมี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้าพรรค
 
               พล.ท.ฐิติวัจน์ กำลังเอก ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) บุตรชายของ พล.อ.อาทิตย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ว่า พล.อ.อาทิตย์ป่วยและรักษาตัวมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเมื่อเดือนสิงหาคม 2557 เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ มาเป็นระยะๆ จนมีอาการติดเชื้อที่ปอด กระทั่งเวลา 06.20 น.ของวันนี้ (19 ม.ค.) ก็ได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยวัย 89 ปี จึงมากราบเรียน พล.อ.เปรม ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่บิดาเคารพนับถือ
 
               โดยวันที่ 20 มกราคมนี้ พล.อ.เปรมจะเป็นผู้แทนพระองค์ในการวางพวงมาลาพระราชทาน และเป็นประธานในพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ที่ศาลา 100 ปี วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม และตั้งสวดพระอภิธรรมศพ ซึ่งอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์เป็นเวลา 3 วัน จากนั้นทางญาติจะเป็นเจ้าภาพสวดอีก 7 วัน ก่อนที่จะเก็บศพไว้
 
               "คุณพ่อเป็นพ่อที่ดี อบรมสั่งสอนลูกให้เป็นคนดี ไม่เคยให้ลูกแสดงตนว่าเป็นลูกผู้บัญชาการ ลูกผู้ใหญ่ หรือใช้อภิสิทธิ์ใดๆ เป็นคุณพ่อที่ประเสริฐ เป็นแบบอย่างในการทำงานที่ดี มีจิตใจช่วยเหลือ ดูแลประชาชน ผมรู้สึกภาคภูมิใจในตัวคุณพ่อ ตั้งแต่เป็นวีรบุรุษสะพานมัฆวาน เพราะท่านเป็นคนที่ทำให้ประชาชนกับทหารไม่ปะทะกันในการเดินขบวน และมีการปลดอาวุธ จากนั้นได้มาทำงานมวลชนร่วมกับ พล.อ.เปรม เมื่อครั้งเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ครั้งนั้นมีเหตุการณ์รุนแรง พล.อ.อาทิตย์ได้เสนอแนวทางต่อสู้ด้วยสันติ การเมืองนำการทหาร ได้ทำในพื้นที่บ้านสว่างแดนดิน และต่อมา พล.อ.เปรมได้มีนโยบาย 66/23 ซึ่งผมถือว่าเป็นวิธีที่ทำให้ประเทศเกิดความปรองดองได้เป็นอย่างดี"
 
               บุตรชายของ พล.อ.อาทิตย์ กล่าวด้วยว่า "คุณพ่อเมื่อครั้งยังมีสติดี ได้สอนลูกว่าเป็นคนดี ยึดมั่นคุณธรรม จงรักภักดี ยอมตายเพื่อประเทศชาติและราชบัลลังก์ ทุกครั้งที่คุณพ่อพูดถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระราชินี ท่านจะยกมือท่วมหัว ผมถือว่าสิ่งที่คุณพ่อสั่งสอนมานั้นเป็นคำสั่งเสียให้ทุกคนในตระกูลยึดถือ และอยากให้คนไทยได้เห็นเป็นแบบอย่างถึงความจงรักภักดี และเสียสละตนเองเพื่อประเทศ"
               นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย พร้อมด้วย พล.ต.เถลิงศักดิ์ พูลสุวรรณ ผบ.ทบ.จว.เลย ร่วมกันแถลงข่าวว่า เจ้าหน้าที่ทหารบกจังหวัดเลยทุกระดับชั้น และพี่น้องประชาชนจังหวัดเลย รู้สึกเศร้าเสียใจเป็นอย่างมาก ในการจากไปของท่าน ซึ่ง พล.อ.อาทิตย์ มีคุณูปการด้านการทหาร การศึกษา และชุมชน เป็นอย่างมาก ในวันนี้จึงได้เรียกเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือ จะร่วมกันจัดกิจกรรมไว้อาลัยแก่ท่าน โดยร่วมกันลงชื่อ มีอยู่ 2 สถานที่ คือ ที่หน้าศาลากลางจังหวัดเลย และค่ายศรีสองรัก ว่าที่ใดเหมาะสมและสะดวกที่สุด เพื่อให้พี่น้องประชาชนมาร่วมลงชื่อไว้อาลัย ส่วนการจัดกิจกรรมจะเป็นรูปแบบใด ก็ต้องหารือกันก่อน เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่าน ที่ได้สร้างคุณูปการไว้มากมายในจังหวัดเลย
 
               ทั้งนี้ พล.อ.อาทิตย์ เป็นผู้ก่อตั้งค่ายศรีสองรัก จังหวัดทหารบกเลย เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ.2521 เป็นหน่วยในอัตราของมณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร โดยมีประวัติการจัดตั้งหน่วยตั้งแต่ ปี พ.ศ.2524 เป็นจังหวัดทหารบกขอนแก่น ส่วนแยกเลย มีที่ตั้งชั่วคราวอยู่ที่ค่ายศรีพัชรินทร จังหวัดขอนแก่น ขึ้นการบังคับบัญชาต่อจังหวัดทหารบกขอนแก่น
 
               ต่อมาในปี พ.ศ.2525 ย้ายจากที่ตั้งชั่วคราว จังหวัดขอนแก่น เข้าที่ตั้งปกติถาวร ซึ่งเป็นที่ตั้งปัจจุบัน ณ ค่ายศรีสองรัก อ.เมืองเลย จ.เลย ในปี พ.ศ.2527 เปลี่ยนนามหน่วยเป็นจังหวัดทหารบกอุดร (ส่วนแยกที่ 3 เลย) ขึ้นการบังคับบัญชาต่อจังหวัดทหารบกอุดรธานี ในปี พ.ศ.2531 แปรสภาพหน่วยเป็นจังหวัดทหารบกเลย โดยมีการจัดหน่วยและบรรจุกำลัง ตาม อจย. หมายเลข 51-302 (5 ส.ค.2531) เป็น จังหวัดทหารบกชั้น 2 ทบ.ล.ย. ถือว่า วันที่ 5 มิถุนายน เป็นวันสถาปนาหน่วย ซึ่งในระยะการตั้งค่ายศรีสองรัก ในระยะแรกนั้นยังขาดที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
 
               พล.อ.อาทิตย์ ในขณะนั้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 จึงให้สร้างศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขึ้นในบริเวณค่ายศรีสองรัก ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2523 และขอพระราชทานพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาประดิษฐาน ณ ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ค่ายศรีสองรัก เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของทหารภายในค่าย
 
 
 
 
 
 
 
 
 
Go to top