กรมอุทยานฯ ส่ง ป.ป.ท.ฟันทุจริต หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูเรือ จ.เลย พร้อมตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรง

หลังพบพิรุธโครงการฝายมีชีวิต กว่า 1,300 แห่ง ไม่ได้ขออนุญาติก่อสร้างในเขตอุทยานฯ แต่กลับมีการเบิกงบประมาณไปกว่า 20 ล้านบาท แถมยังรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา 2 เด้งหัวหน้าอุทยานฯ หาดเจ้าไหม จ.ตรัง ฐานบกพร่องต่อหน้าที่

ขอขอบคุณภาพจาก https://sunitasaisorn.wordpress.com

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์ุพืช กระทรวงทรัพยา กรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า กรมอุทยานฯ ได้รับแจ้งจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) ให้ตรวจสอบการทุจริตการก่อสร้างตามโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.เลย ในกิจกรรมอนุรักษ์ฟื้นฟูพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ป่าต้นน้ำและป่าชุมชน จ.เลย แบบต่อเนื่องยั่งยืนหรือที่เรียกกันว่าโครงการฝายมีชีวิต โดยการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นในเขตอุทยานแห่งชาติภูเรือ จ.เลย ประกอบด้วยกิจกรรมการก่อสร้างฝายแบบผสมผสาน จำนวน 1,300 แห่ง ฝายแบบกึ่งถาวร จำนวน 20 แห่ง จัดทำแนวกันไฟ ระยะทาง 110 กิโลเมตรและฝึกอบรมให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์และป้องกันรักษาทรัพยากรป่าไม้แก่ราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า(รสทป.) โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดเลย ปีละ 10 ล้านบาท ตนจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบมีนายณัฐพล รัตนพันธุ์ ผอ.ส่วนกิจการทางทะเล สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานฯ เป็นประธานไปตรวจสอบในเชิงลึกพบว่ามีมูลการทุจริตตามที่มีการร้องเรียนไปยัง ป.ป.ท.จริง

 

อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวต่อว่า โดยผลการตรวจสอบพบว่า มีความผิด 2 ประเด็นคือ ไม่ได้รับอนุญาติให้มีการก่อสร้างฝายจากกรมอุทยานฯ และ รายงานอันเป็นเท็จต่อผู้บังคับบัญชา การก่อสร้างโครงการฝายมีชีวิต เริ่มในปี 2557 – 2559 งบประมาณปีละกว่า 10 ล้านบาทจากจังหวัดเลย ตั้งเบิกโดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด(ทสจ.)เลย โดยปี 2557 มีการขออนุญาติสร้างฝายและได้รับอนุญาติจากกรมอุทยานฯ แต่ในปี 2558 และปี 2559 ไม่มีการขออนุญาติสร้างฝายจากกรมอุทยานฯ แต่กลับมีการเบิกงบประมาณเพื่อก่อสร้างฝายปีละกว่า 10 ล้านบาท แล้วแจ้งกรมอุทยานฯ ว่าได้มีการยกเลิกโครงการฝายมีชีวิตหรือไม่ประสงค์จะดำเนินการ เท่ากับเป็นการรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา 2 ปีซ้อน เพราะฉะนั้นงบประมาณที่เบิกไปแล้วปีละกว่า 10 ล้านบาท หายไปไหน ที่สำคัญ ในพื้นที่อุทยานฯ ภูเรือ ไม่เอื้ออำนวยต่อการสร้างฝายชะลอน้ำ เนื่องจากพ้ืนที่ครึ่งหนึ่งของอุทยานฯ ด้านฝั่งตะวันออก เป็นหน้าผาสูงชัน นอกจากนี้ แม้จะตรวจสอบพบว่ามีการก่อสร้างฝายจริง แต่ก็มีข้อสังเกตุ คือ มีการทำซ้ำในที่เดิมที่มีการก่อสร้างอยู่แล้วหรือทำซ้ำซ้อน ดังนั้น จึงให้ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูเรือ ฐานทำให้อุทยานฯ เสียหาย ส่วนการทุจริตหรืออาจมีความไม่โปร่งใสในการเบิกจ่ายงบประมาณมอบให้ ป.ป.ท.ดำเนินการต่อไป

นายธัญญา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ตนได้ย้ายนายมาโนช วงษ์สุรีย์รัตน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง ไปประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5(นครศรีธรรมราช) และย้ายนายณรงค์ คงเอียด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติรามคำแหง มาเป็นหัวหน้าอุทยานฯ หาดเจ้าไหม สาเหตุที่ต้องนายมาโนช เนื่องจากบกพร่องต่อหน้าที่ทั้งไม่ใส่ใจการจัดเก็บเงินค่าบริการอุทยานฯ การไม่ซ่อมเรือที่ใช้ปฎิบัติหน้าที่ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการร้องเรียนจากชมรมชาวประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง กรณีโครงการวิจัยเกี่ยวกับพะยูนด้วย

ขอขอบคุณข่าวจาก : https://www.matichon.co.th/news/589664

Go to top