ก่อนปีใหม่นิดหน่อยผมได้มีโอกาสผ่านไป อ.ด่านซ้าย จ.เลย การไปครั้งนี้ผมได้เข้าไปกราบสักการะพระธาตุศรีสองรัก ซึ่งเป็นพระธาตุสำคัญของที่นั่นด้วย ทั้งๆที่ผมก็เคยผ่าน อ.ด่านซ้ายหลายครั้งแต่ก็ไม่เคยได้แวะเข้าไปสักการะพระธาตุ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะความเชื่อผิดๆที่ผมจดจำมา ที่ว่า คู่รักควรจะมาไหว้สักการะพระธาตุศรีสองรักเพื่อขอพรให้รักมั่นยืน อะไรประมาณนั้น ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่เลย
พระธาตุศรีสองรักเป็นพระธาตุที่สร้างขึ้นมาเพื่อยืนยันสัจจะวาจา ว่าจะไม่รุกรานกันระหว่างพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์กรุงศรีสัตนาคนหุต(นครหลวงเวียงจัน) กับพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา ในระหว่างที่ทั้งสองเมืองกำลังถูกรุกรานจากพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์เมืองหงสาวดีที่กำลังเรืองอำนาจสูงสุดในสมัยนั้น พระธาตุศรีสองรักจึงถูกสร้างขึ้นริมน้ำหมันในปี พ.ศ.2103 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2106 เพื่อเป็นหลักบอกอาณาเขตระหว่างกันและกัน ว่าทั้งสองเมืองจะไม่ยกกองทัพล่วงล้ำผ่านแดนเพื่อไปทำลายกันและกัน
ซึ่งสัจจะวาจาของกษัตริย์ทั้งสองที่ได้ให้ไว้ต่อพระธาตุก็ได้มั่นยืนมาถึง 219 ปี คือถึงปี พ.ศ. 2322 สมัยกรุงธนบุรี ที่หลังจากประกาศอิสระภาพจากพม่า ก็กำลังเข้มแข็งเรืองอำนาจ พอๆกับที่ทางนครฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงก็กำลังอ่อนแอ เกิดความแตกแยก แบ่งเป็นสามอาณาจักร คือ นครเวียงจัน หลวงพระบางและจำปาสัก โดยกษัตริย์ผู้ครองนครทั้งสามนครต่างเป็นเครือญาติกันทั้งนั้น แต่ทั้งสามก็ต่างต้องการที่จะมีอำนาจเหนือกัน จึงรบราฆ่าฟันกันหลายปี ไม่มีใครได้ชัยชนะเบ็ดเสร็จ ต่างฝ่ายจึงต่างคิดหาตัวช่วย โดยการเข้ามาสวามิภักดิ์ต่อกรุงธนบุรี และเมื่อทางกรุงธนบุรีเห็นว่า นครเหล่านี้กำลังอ่อนแออย่างสุดๆ ปีพ.ศ.2320 จึงได้ส่งเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกหรือพระยาจักรียกไปตีเวียงจันทร์ ใช้เวลาสองปีจึงได้ชัยชนะตีเวียงจันแตก ตรงกับวันจันทร์ แรม 3 ค่ำ เดือน 10 พ.ศ. 2332 ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสิ้นสุดพันธสัญญา ละเมิดคำสาบานที่กษัตริย์ของทั้งสองนครได้กระทำไว้ด้วยกันต่อองค์พระธาตุศรี สองรัก ที่เมืองด่านซ้ายแห่งนี้เช่นกัน ผมมากราบสักการะพระธาตุก็เพื่อระลึกถึงพันธสัญญาที่มีการกระทำไว้ ณ. พระธาตุศรีสองรักแห่งนี้...
กราบไหว้องค์พระธาตุเสร็จ ผมออกไปเดินตลาดเย็น ดูผู้คนหลากหลายมากหน้าหลายตา ฟังสำเนียงลาวไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของที่นี่ เห็นดวงตาแวววาว บนใบหน้ากร้านลมแดดของแม่เฒ่าขายผัก ขณะร้องเรียกผู้คน พร้อมๆกับที่มือเหี่ยวย่นนั้นก็เคลื่อนไหวหยิบจับผักพืชใส่ถุงอย่างคล่อง แคล่ว ทำให้หวนคิดถึง สนธิสัญญาไทยฝรั่งเศสที่ทำขึ้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช คืออนุสัญญา 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446 ที่ไทยได้ยกพื้นที่ อ.ด่านซ้ายให้แก่ฝรั่งเศษเพื่อขอให้ฝรั่งเศษยอมคืนจันทบุรีและตราดแก่ไทย สัญญาฉบับนี้ทำให้อ.ด่านซ้าย อ.นาแห้ว ต้องถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของเมืองแก่นท้าวของลาวภายใต้การปกครองของ ฝรั่งเศส หากสัญญาฉบับนั้นยังใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน ผมคงไม่สามารถเข้ามาสักการะพระธาตุ เดินตลาดและถ่ายรูปปั้นผีตาโขนได้อย่างนี้ และแม่เฒ่าที่นั่งขายผักอยู่นี่ ก็คงเป็นคนต่างชาติกับผม ซึ่งผมไม่รู้หรอกว่า หากเป็นเช่นนั้นจะเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีต่อคนที่นี่ ยิ่งเมื่อระลึกได้ถึงคำตรัสที่ว่า”ถึงแม้ลาวจะเป็นคนหัวอ่อนปกครองง่าย แต่เมื่อคิดถึงกระเป๋าแล้วคงไม่สบาย...” ผมก็ยิ่งรู้สึกไม่แน่ใจมากยิ่งขึ้น ว่าระหว่างเส้นเขตแดนจากอนุสัญญา พ.ศ.2446 กับเส้นเขตแดนปัจจุบัน อย่างไหนจะดีต่อคนที่นี่มากกว่ากัน...
ก่อนจะเข้าที่พักคืนนั้น ผมแวะทานอาหารเย็นที่ร้านอาหารริมทาง ขณะนั่งรออาหารที่สั่ง เหลือบมองไปฟากถนน เห็นควันโรยตัวเป็นสายบางๆ บ้างถูกลมพัดกำจาย โชยกลิ่นหอมหวลของไส้กรอกอีสานย่างมาจนถึงฟากที่ผมนั่งอยู่ อดไม่ไหวต้องลุก เดินข้ามถนนไปซื้อมาชิมแกล้มเบียร์ ฆ่าเวลารออาหารที่สั่ง
วัฒนธรรมของคนที่นี่คล้ายๆกับคนอีสานของไทยและคนลาวเวียงจัน คงเพราะคนที่นี่มีการแลกเปลี่ยนและสืบเชื้อสายมาจากคนแก่นท้าว หนองคายและเวียงจันนั่นเอง ซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงมีหลักฐานบอกถึงสายสัมพันธ์นี้ อยู่ในภาพเขียนที่ผนังวิหารวัดโพธ์ชัย ต.นาพึง อ.นาแห้ว เป็นวิหารเก่าที่ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 22-23 คือช่วงอยุธยาตอนปลายถึงตอนต้นรัตนโกสินทร์ เป็นภาพเขียนที่บ่งบอกถึงลักษณะการแต่งกายของคนพื้นถิ่นที่ละม้ายคล้ายคลึง กับคนเวียงจันอย่างยิ่ง (การแต่งหน้า เกล้าผม พาดสไบ และลายบนผ้าซิ่น)
นั่งทานอาหารไป เรื่องราวความขัดแย้งในปัจจุบันก็โพล่ผุดขึ้นมาในห้วงคิด คือกระแสการเรียกร้องเอกราช อธิปไตยเหนือดินแดน 4.6 ตร.กม. รอบๆปราสาทพระวิหารที่ถุกจุดขึ้นอีกครั้ง โดยนักเลงอนุรักษนิยมในกรุงเทพฯ ที่ผสมปนเปประวัติศาสตร์สเปะสะปะไปตามความคิดคลั่งของพวกตน ที่น่าแปลกและน่าฉงนเป็นอย่างยิ่ง คือกล่าวว่าหากเสียพื้นที่ 4.6 ตรม.รอบๆเขาพระวิหารตรงนี้ จะทำให้เสียไปถึงพื้นที่ในทะเลอ่าวไทยด้วยนี่ซิ... และยิ่งน่าสมเพทเป็นอย่างยิ่ง ที่คำกล่าวโยงใยอย่างมั่วเมาเช่นนี้ กลับเป็นที่เชื่อถือ รับฟัง และยอมรับของคนไทยอีกหลายๆคนที่ลุกฮือมาช่วยประโคมโหมประวัติศาสตร์คลั่ง ชาติอย่างไร้สติอีกด้วย...
พื้นที่ชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ในส่วนที่เป็นผืนดินติดต่อกัน จะใช้สันปันน้ำเป็นจุดแบ่งอาณาเขตของกันและกัน และจากเขามออีแดงซึ่งเป็นที่ตั้งของปราสาทพระวิหารใน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ พรมแดนตรงนี้จะไล่ไปทางทิศตะวันตก จนถึงเขต อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ จึงจะวกลงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ไล่เลียบ อ.ตาพระยา อ.โคกสูง อ.อรัญประเทศของ จ.สระแก้ว จนถึง อ.คลองหาด ก็จะวกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ผ่าน อ.เขาสอยดาว อ.บ่อไร่ ไปสิ้นสุดที่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด จากนั้น เขตแดนของไทยกับกัมพูชาเพื่อนบ้าน จึงจะวาดอาณาเขตแบ่งแดนกันบนผืนทะเล... จึงน่าฉงนอย่างยิ่งที่ 4.6 ตร.กม.รอบๆพระวิหาร ไปเกี่ยวข้องได้อย่างไรกับการแบ่งเขตแดนที่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด และยิ่งน่าฉงนพร้อมทั้งสมเพทมากกว่า ก็คือการที่มีคนไปเพ้อคลั่ง งมงายหลงเชื่อความเท็จตรงนี้ด้วยนี่ซิ
ประเทศเพื่อนบ้านกับเรา ต่อไปนี้จะอยู่ร่วมกันยังไง เป็นเรื่องที่น่าคิดและควรมีการวางแนวทางร่วมกันได้แล้วในเวลานี้ ว่าเราจะคบหากันอย่างไร การจะเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 เราจะคบหากันอย่างไรในเขตประชาคมร่วมนั้น ...แน่นอน หากเราคบหากันด้วยความมีอคติ มุ่งร้าย คาดหวัง จะกอบโกยคดโกงเพื่อนบ้าน เราก็ย่อมจะอยู่ร่วมกันอย่างไม่มีความสุข เพราะต้องหวาดระแวงว่าตนจะถูกเอาเปรียบ และ/หรือจ้องจะเปรียบเขาอยู่ การร่วมมือก็คงจะหาความสามัคคีไม่ได้ การจับมือก็คงจะเป็น การแตะมือกันอย่างว่างเปล่าโดยที่มืออีกข้างกลับกำมีดซ่อนไว้ข้างหลัง... กลับกัน หากเราคบหาสมาคมกันด้วยความจริงใจ ด้วยไมตรีจิตผูกมิตรใจกันจริงๆ ประชาคมอาเซียนก็ย่อมจะเป็นประชาคมแห่งความสามัคคีและสงบสุข มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของเพื่อนบ้าน คบหากันอย่างเปิดใจ เฉกเช่นที่บรรพบุรุษของพวกเราทั้งหลายได้เคยปฏิบัติต่อกันมานับแต่ครั้งบรรพ กาล(ไม่รวมชนชั้นปกครอง) ที่มีการทำมาหากินร่วมกัน ค้าขายแลกเปลี่ยนกัน และโยกย้ายไปมาหาสู่กันได้อย่างสะดวก ไร้เขตแดนขีดคั่น แบ่งแยกกันให้ห่างเฉกเช่นปัจจุบัน
จึงควรที่เราทั้งหลายจะมองไปถึงผลประโยชน์ที่จะได้จากการคบค้าสมาคมกับ เพื่อนบ้าน มากกว่าที่จะมาจมปลักหล่มเรื่องเขตแดน อันเป็นเรื่องล้าหลังที่ประชาคมโลกส่วนใหญ่เขาพากันก้าวข้ามไปหมดแล้ว การเป็นประชาคมร่วมกัน ย่อมทำให้สามารถโยกย้ายข้ามไปมาหาสู่กันได้อย่างสะดวก ถึงเวลานั้นเรื่องเขตแดนเป็นของใครก็แทบเป็นเรื่องไร้ความหมายไปเสียทั้ง สิ้น เพราะทุกคนย่อมรวมเป็นประชาคมเดียวกัน ก้าวข้ามอคติตรงนี้ เพื่อไปรับงบประมาณสำหรับฟื้นฟูอนุรักษ์โบราณสถาน จากกองทุนมรดกโลกแล้วนำมาพัฒนาพื้นที่ประสาทพระวิหารให้สวยสง่างาม ฉายให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของบรรพบุรุษย่อมดีกว่าไม่ใช่หรือ....?
ก่อนหลับนอนคืนนั้น... ผมคิดว่า ควรอย่างยิ่งที่ประชาชนทุกๆคนในกลุ่มประเทศอาเซียน จะได้มาร่วมกันทำสัตย์ปฏิญญา เบื้องหน้าองค์พระธาตุศรีสองรัก ว่าทุกคนทุกชาติจะอยู่ร่วมกันฉันท์มิตร มีความร่วมมือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อาทรต่อกัน ร่วมด้วยช่วยเหลือกันอย่างมิตรที่ดี ไม่เอารัดเอาเปรียบไม่ทำร้ายทำลายกัน... คำสาบานในครั้งก่อนยั่งยืนอยู่ได้ 219 ปี เพราะเป็นการกระทำสัตย์ของคนชั้นปกครองเพียงไม่กี่คน แต่สัตย์ปฏิญญาครั้งใหม่นี้ จะเป็นการกระทำร่วมกันของประชาชนทุกคน ทั่วเขตแดนประชาคมอาเซียน ผมเชื่อว่าสัตย์ปฏิญญาร่วมกันของประชาชนทั้งหลายที่เท่าเทียมเสมอหน้ากันจะ ต้องศักดิ์สิทย์และยั่งยืนยิ่งกว่าสัตย์ปฏิญญาในครั้งก่อนๆอย่างแน่นอน
และพรุ่งนี้ ผมอยากเห็นภาพญาติๆในฝั่งไทย บ้างเดินข้ามน้ำเหือง บ้างล่องเรือข้ามน้ำโขงไปทำนาในฝั่งลาว พลบค่ำก็กลับมาพร้อมรอยยิ้มเต็มหน้า ในตะกล้ามีผักสดที่ปลูกไว้ข้างคันนากลับมาด้วย เช่นเดียวกับคนลาวและคนเขมร ก็เข้ามาทำนา หาญาติ และทำงานในฝั่งไทยในยามเช้า ก่อนที่เย็นย่ำก็จะขับรถกลับไปนอนที่บ้านได้เช่นเดียวกัน...
ที่มา:http://blogazine.in.th/blogs/mourose/post/3904