r

   “ใครที่ปฏิบัติตามคําสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วก็ตายไม่มีห่วงได้ทุกขณะ

ไม่ว่าจะเป็นเดี๋ยวนี้ หรืออีกห้านาที หรืออีกหกเดือน หรือสามสิบปีต่อไป”

 

- หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์  ปราโมช -

จาก สยามรัฐหน้า 5 ฉบับจัดพิมพ์โดย ’รงค์ วงษ์สวรรค์

  

  เมื่อทราบข่าวว่าคุณ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เสียชีวิต ความรู้สึกแรกที่เกิดขึ้นก็คือ ใจหาย  ใจมันหวิวๆ เหมือนอะไรขาดหายไปบางอย่าง นี่กระมังที่ทําให้เขาเรียกกันว่า ใจหาย คือใจมันเหมือนจะหายไปชั่วขณะ

 

แม้จะรู้ว่าคุณ ’รงค์ไม่กลัวความตาย แต่ที่ใจหาย เพราะเรา—หมายถึงคุณวรพจน์ พันธุ์พงศ์ คุณธวัชชัย พัฒนาภรณ์ และผม—เพิ่งจะคุยกันเมื่อสองสามวันก่อนว่าจะขอให้คุณ ’รงค์ช่วยตั้งชื่อนิทรรศการภาพถ่ายของคุณ ’รงค์เอง ที่จะจัดขึ้นที่ PS (People Space) แพร่งภูธร ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ คุณ ’รงค์เคยเขียนหนังสือชื่อ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ในเงาเวลาของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ผมชอบชื่อ “ในเงาเวลาของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์” มันให้ความหมายเข้ากับภาพถ่ายขาว-ดําดีนัก แต่ก็อยากจะปรึกษากับคุณ ’รงค์ก่อน เพราะว่ากันในทางเชิงชั้นทางภาษา คุณ ’รงค์คงทิ้งพวกเราไปหลายขุม

 

หลายเดือนก่อน คุณ ’รงค์ส่งข่าวมาว่า ค้นพบฟิล์มขาว-ดําเก่าเก็บตั้งแต่สมัยทํางานอยู่ เฟื่องนคร อยากให้ช่วยจัดการนําออกเผยแพร่ ให้พอดีที่วรพจน์กําลังทําสัมภาษณ์คุณ ’รงค์เพื่อรวมเล่มในวาระครบ 77 ปีอยู่ ธวัชชัยหรือเต้ ซึ่งเป็นช่างภาพขาว-ดําสําหรับหนังสือเล่มนั้น จึงช่วยเป็นธุระจัดการเรื่องฟิล์มให้ทั้งหมด ทั้งปรับปรุงสภาพ ทําความสะอาด และอัดภาพลงกระดาษด้วยเครื่องออกมาให้ดูเป็นตัวอย่าง ก่อนจะอัดมือเมื่อแสดงจริง

 

แม้ จะเป็นเวลาหลายสิบปี  แต่ภาพจากฟิล์มสี่ห้าม้วนชุดนั้นยังคงชัดเจน มีทั้งภาพวิถีชีวิตกรุงเทพฯ  ในช่วงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ ปิดซ่อม เห็นผู้คนแต่งตัวสวยงามราวกับอยู่ในฉากภาพยนตร์ มีภาพสํานักงานนิตยสาร เฟื่องนคร และนักเขียนร่วมสมัย(นั้น)หลายคน

 

สมัย เฟื่องนคร คุณ ’รงค์ ผลิตนิตยสารรายเดือนเปลี่ยนหัวไปตามชื่อเดือนเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายเผด็จการ ที่เคร่งครัดกับการอนุมัติหัวหนังสือใหม่ นอกจากนี้ รูปที่อัดมายังมีภาพ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ในหลายอิริยาบถบนยอดดอยขุนตาน รวมทั้งมีภาพของคุณ ’รงค์เองที่น่าจะถูกถ่ายจากคนใกล้ชิด เพราะมาจากฟิล์มม้วนเดียวกัน บางรูปคุณ ’รงค์เคยเล่าว่าเป็นฝีมือของคุณชายคึกฤทธิ์เองด้วยซ้ำ

 r

ภาพ ทั้งหมดนี้ ถ้าได้รับการอัดอย่างประณีต ใส่กรอบ และจัดแสดงอย่างเหมาะสม แน่นอน ย่อมก่อ ให้เกิดความเจริญตาเจริญใจแก่ผู้พบเห็น ปราบดา หยุ่น บอกกับผมหลังเห็นภาพว่า บางภาพน่าจะนําไปทําปกหนังสือเลยด้วยซ้ำ  สําหรับนักอ่านรุ่นใหม่ที่ไม่เคยได้ศึกษาประวัติคุณ ’รงค์มาก่อน อาจจะแปลกใจว่า ทําไมนักเขียนชราคนหนึ่งถึงถ่ายรูปได้ดีนัก  หากแต่ผู้สันทัดกรณีในชีวิตของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ คงจะตอบได้ทันทีว่า ก็คุณ ’รงค์ในวัยหนุ่มนั้น เริ่มต้นอาชีพนักเขียนด้วยการถ่ายภาพ ตรวจพิสูจน์อักษรอยู่ที่ สยามรัฐ ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นนักเขียนในลีลาภาษาสวิงซึ่งทิ้งร่องรอยไว้มากมายในวง การวรรณกรรมไทย  จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนรุ่นหลังหลายคนได้เดินตาม  แม้จะไม่เคยมีใครวัดรอยเท้าได้พอดี ด้วยรองเท้าของ ’รงค์ นั้นใหญ่เกินกว่าใครจะใส่ได้ฟิต-นี่ว่ากันตามสํานวนฝรั่ง

 

วรพจน์ตั้งใจจะขึ้นไปพบคุณ ’รงค์ช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ เต้ก็กะจะหอบรูปทั้งหมดไปให้คุณ ’รงค์ เซ็นชื่อ ผมฝากเต้ถามรายละเอียดว่าใครเป็นใครในภาพ  เพราะเชื่อว่าคุณ ’รงค์คงจําได้หมด  ด้วยโรคภัยทั้งหลายที่คุกคามคุณ ’รงค์มาโดยตลอดช่วงหลายปีหลังนั้น จะคุกคามก็แต่เฉพาะกําลังวังชาของคุณ ’รงค์เท่านั้น แต่ โรคภัยหาได้เคยกล้ำกรายความทรงจําและกําลังใจของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ไม่  คุณ ’รงค์ยังคงจดจําทุกเรื่องราวได้อย่างแจ่มชัด จะว่าไปก็ไม่ต่างจากภาพถ่ายขาว-ดําของคุณ ’รงค์ ที่เมื่อหยิบมาอัดใหม่ ก็ยังให้ความคมชัด เหมือนเรื่องราวทั้งหมดเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันวาน

 

ผมพบคุณ ’รงค์ครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน เมื่อตอนที่คุณ ’รงค์ หยุดพักงานเขียนที่ทํามาตลอดชีวิต เพราะถูกโรคไตคุกคาม  ตอนนั้นปราบดาและผมมีดําริที่จะทํานิตยสารเกี่ยวกับงานเขียนร่วมสมัย ใช้ชื่อว่า open house แนวคิดส่วนหนึ่งมาจากสมัยคุณ ’รงค์ทํา เฟื่องนคร คือชวนเพื่อนฝูงรุ่นราวคราวเดียวกันมาช่วยกันเขียน  ค่าต้นฉบับที่ได้ก็จัดสรรแบ่งกันตามสัดส่วน คิดได้ดังนั้นแล้ว เราทั้งคู่จึงเห็นสมควรว่า น่าจะเชิญคุณ ’รงค์มาร่วมวงด้วย  การติดต่อสื่อสารระหว่างพวกเราและคุณ ’รงค์ จึงเริ่มต้นขึ้น นํามาสู่การเดินทางด้วยรถไฟของชาวคณะ open ขึ้นไปเยี่ยมเยียนสวนทูนอินหลายครั้ง  จนบางคน ไปสวนทูนอินมากกว่ากลับบ้านต่างจังหวัดเสียอีก

 

ผมเองอ่านงานเขียนของคุณ ’รงค์ มาตั้งแต่อยู่มหาวิทยาลัย  ปิดเทอมใหญ่เพื่อนร่วมห้องพักของผมไปฝึกงานที่บริษัทหลักทรัพย์เป็นหลัก เป็นฐาน  ผมกลับอยู่ห้อง นอนอ่าน สนิมสร้อย ไปตลอดบ่ายจรดค่ำ เมื่อเริ่มต้นชีวิตนักข่าว  เพื่อนหนุ่มสาวชวนไปเที่ยวเกาะช้างในยุคที่ยังไม่มีโรงแรมห้าดาวผุดขึ้น เป็นดอกเห็ด เพื่อนเล่นน้ำทะเล ผมนอนเอกเขนกอ่าน หลงกลิ่นกัญชา, ใต้ถุนป่าคอนกรีต จนเพื่อนบางคนงอนไปหลายรอบ เพราะมาทะเลทั้งทีแต่ไม่ยอมออกไปไหน

 

งานของคุณ ’รงค์ทําให้คนหนุ่มอยากใช้ชีวิต  อยากออกไปท่องโลกเก็บเกี่ยวประสบการณ์เอามาบอกเล่า เมื่อคุณ ’รงค์เขียนเรื่องกับข้าวกับปลาก็พลอยทําให้เราอยากอาหารไปด้วย ตอนเด็กผมไม่ชอบกินผัก แต่ผมกลายเป็นคนชอบกินผักเพราะอ่านเรื่องของคุณ ’รงค์ ผักของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ มีชีวิต น่ารับประทาน เช่นเดียวกับปลา ที่คุณ ’รงค์เคยบอกว่า กลิ่นคาวคือความเอร็ดของมัน

 

การมีโอกาสได้พบกับ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ จึงทําให้ผมอดที่จะตื่นเต้นไม่ได้ ยิ่งได้พบตัวจริงๆ ในบรรยากาศแวดล้อมแบบของคุณ ’รงค์ด้วยแล้ว ก็ยิ่งเกร็งไปกันใหญ่ เพราะแม้จะนั่งคุยกับแขกจากโต๊ะทํางาน แต่วาระการสนทนาที่คุณ ’รงค์เป็นคนกําหนด เสียงทุ้มทรงพลังของคุณ ’รงค์ และอํานาจเร้นลับที่แฝงมากับน้ำเสียงนั้น ผมคิดว่าไม่ว่าใครที่ไปหาคุณ ’รงค์ครั้งแรก ก็คงได้รับความรู้สึกใกล้เคียงกัน

 

ถ้าไม่ใช่ศิลปะการจัดวางชั้นเยี่ยม ก็น่าจะพอเรียกได้ว่า ทั้งหมดนี้คือ charisma ของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ โดยแท้ เป็นคาริสม่า—บารมี—ที่นักการเมืองควรมี แต่หลายคนกลับไม่มี นายกรัฐมนตรีบางคนที่ผมเคยพบ ยังไม่มีบารมีเท่ากับคุณ ’รงค์  นอกจากบารมีแล้ว คุณ ’รงค์ ยังมีพิธีการทูตในการต้อนรับแขกอย่างเพียบพร้อม ไม่ตกหล่น อาหารการกินสมบูรณ์ตามสูตรของมัน สุรา ทุกชนิดมีให้เลือก ทั้งบรั่นดี วิสกี้ เหล้าบ๊วย ไวน์แดง ไวน์ขาว เหล้าขาดมือ คุณ ’รงค์หันไปดุเด็กสาวเบาๆ ว่า “ทําไมไม่รินเหล้าให้พี่เขา” ตาม ธรรมเนียมคนตะวันออกที่ผู้อาวุโสกว่าย่อมได้รับการปรนนิบัติ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงสุรา) จากผู้ที่มาทีหลัง แม้รุ่นพวกเราจะไม่ถือสาใส่ใจกับธรรมเนียมเหล่านี้เท่าใดนัก แต่ก็พอเข้าใจได้ ถึงความคิดที่อยู่เบื้องหลังพิธีกรรมทั้งปวง

 

นอกจากอากาศเย็นสบายบนดอย ดอกไม้สีสวยหลายชนิดที่คุณ ’รงค์บรรจงปลูกไว้รอบบ้านแล้ว ความน่ารักอีกอย่างหนึ่งของสวนทูนอินก็คือ ในห้องทํางานของคุณ ’รงค์ จะมีเสียงเพลงแจ๊ซจากนักร้องหญิงผิวดําคอยขับขานอยู่เสมอ ความไพเราะแผ่วกังวานของเสียงเพลงทําให้ควันบุหรี่ที่อ้อยอิ่งอยู่รอบ ห้องกลายเป็นเหมือนหมอก ยิ่งเมื่อเดินออกมาริมระเบียงเคียงสระน้ำ แล้วได้กลิ่นหอมของจัสมินหรือมะลิแบบฝรั่งที่ปลูกไว้ด้วยแล้ว ราตรีนั้นช่างแสนสําราญนัก

 

ยิ่งสนทนากันนาน ความน่าเกรงขามของคุณ ’รงค์จะค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็นความเมตตา เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของวงการวรรณกรรมที่คนรุ่นหลังไม่เคยรู้ พรั่งพรูจากเงาเวลาของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ทั้งวิธีการเขียนงานของยาขอบ ประสบการณ์การทํางานร่วมกับอาจารย์คึกฤทธิ์ กระทั่งเรื่องส่วนตัวที่ทําให้ชีวิตเด็กนักเรียนมัธยมปลายโรงเรียนเตรียม อุดมศึกษา ต้องถูกไล่ออกมาเดินเตะฝุ่นอยู่บนถนนพญาไท จนแทบจะกลายเป็นคนไร้อนาคต ถ้าไม่หันมาเอาดีในวิชาชีพนักข่าว

 

คุณ ’รงค์ เล่าว่า ครูที่เคยมีเรื่องกันครั้งนั้น เมื่อพบกันอีกครั้ง ต่างคนต่างให้อภัยกันไปหมดแล้ว แถมยังบอกว่า เป็นความผิดของตัวเองที่เลือดร้อนไปหน่อยสมัยเป็นวัยรุ่น เราสนทนากับคุณ ’รงค์ยาวนานข้ามคืน ประมาณว่าจากสองทุ่มถึงตีสอง เป็นรายการถามตอบที่สนุกที่สุดรายการหนึ่งในรอบหลายปี—ทุกคนที่ร่วมเดินทางไปสวนทูนอินครั้งนั้นยืนยันได้

 

ผมและเพื่อนฝูงกลับไปเยือนสวนทูนอินอีกหลายต่อหลายครั้งหลังจากนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายปีที่อากาศเมืองเหนือเย็นสบาย คุณ ’รงค์บอกว่าหน้าหนาวก็ดี แต่หน้าร้อนเมืองไทยก็สวยมาก เพราะดอกไม้สองข้างทางจะบานตลอดในฤดูร้อน คําพูดของคุณ ’รงค์ ทําให้ผมเริ่มมองฤดูร้อนในแง่ดี และเริ่มมองเห็นสีสันของดอกไม้ตามท้องถนน หลังจากที่ไม่ค่อยได้ใส่ใจมากนัก รายละเอียดในชีวิตเหล่านี้ที่ทําให้งานเขียนของคุณ ’รงค์มีเสน่ห์  คุณ ’รงค์รู้จักดอกไม้ทุกดอก ต้นไม้ทุกต้น เมื่อจะเขียนบรรยายฉากจากหน้าบ้านเข้าไปในบ้าน  คุณ ’รงค์เคยล้อนักเขียนสุภาพสตรีบางท่านว่า  เขียนเสียตั้งสามสี่หน้า แต่ไม่รู้จักต้นไม้สักต้น ดอกไม้ก็รู้จักอยู่ไม่กี่ดอก

 r

เสน่ห์ในงานเขียนของคุณ ’รงค์ จึงรวมเอาความแม่นยําเหล่านี้เอาไว้ด้วย ความแม่นยําที่นอกจากจะมีฐานมาจากการศึกษาเรื่องราวที่จะเขียนมาเป็นอย่างดี แล้ว ยังเกิดจากระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ดีมาก ข้อมูลดิบพวกข่าวจากหนังสือพิมพ์ รูปภาพจากนิตยสาร คุณ ’รงค์ จะตัดใส่แฟ้มแยกประเภทเก็บไว้เป็นหมวดหมู่ ถ้าไม่ติดที่ย้ายบ้านหลายครั้ง ผมเชื่อว่ารูปเมื่อสามสิบปีก่อนก็คงยังอยู่ครบ ในห้องทํางานของคุณ ’รงค์ จึงมีเครื่องถ่ายเอกสารเล็กๆ อยู่หนึ่งเครื่อง เพื่อทําหน้าที่ผู้ช่วยจัดระเบียบข้อมูลอันหลากหลายลงไปในหน้ากระดาษขนาดเอ สี่ ก่อนแฟ้มหลากสีจะเก็บมันไว้ รอวันเจ้าของเรียกใช้ในอนาคต

 

เบื้องหลังนักเขียนที่ยิ่งใหญ่จึงมีวินัยอันเคร่งครัดเป็นเครื่องกํากับ

 

ใช่แต่กับตัวเอง ต้นฉบับของคุณ ’รงค์ที่ส่งมาสามารถรู้ได้ทันทีว่ามาจากไหน เพราะคุณ ’รงค์จะจ่าหน้าถึงผู้รับด้วยลายมือตนเองอย่างชัดเจน ต้นฉบับเนื้อในของคุณ ’รงค์ยังคงพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีดที่ตั้งอยู่บนโต๊ะทํางาน วรรคตอนและการจัดหน้า ยังคงเป็นลีลาของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่พวกเราคุ้นเคย

 

ด้วยแรงกระตุ้นจากนักเขียนหนุ่มนามปราบดา หยุ่น  ’รงค์ วงษ์สวรรค์ กลับมามีกําลังใจในการเขียนงานอีกครั้งในช่วงบั้นปลาย คุณ ’รงค์ หยิบกระดาษแผ่นเล็กๆ มาให้ผมดู พร้อมกับบอกว่า เมื่อก่อนใช้กระดาษแผ่นใหญ่ แต่เดี๋ยวนี้กําลังมันถดถอย เพราะต้องฟอกไตทุกสองสามวัน ฟอกไตทีหนึ่งก็หมดแรงไปทั้งวัน ต้องพักฟื้น เขียนหนังสือด้วยกระดาษแผ่นใหญ่มันไม่จบหน้าเสียที เปลี่ยนมาเป็นแผ่นเล็ก จบหน้าเร็วดี มีกําลังใจมากขึ้น

 

ได้ ฟังเรื่องนี้แล้ว ผมซึ่งสุขภาพยังดีอยู่จึงต้องดุด่าตัวเองทุกครั้งที่บิดพลิ้วไม่ยอมเขียนต้น ฉบับ ทั้งๆ ที่หน้ากระดาษของเรากําหนดง่ายกว่าด้วยหน้าตาของจอคอมพิวเตอร์ ถ้าอยากจบเร็วจะเปลี่ยนขนาดตัวหนังสือช่วยก็ทําได้ แล้วทําไมนักเขียนรุ่นหลังถึงยังมีข้ออ้างเรื่องการเขียนหนังสืออยู่ นักเขียนอย่าง ’รงค์ วงษ์สวรรค์ คงรําคาญคําแก้ตัวไร้สาระทั้งหลาย

 

หลังจากสุขภาพอยู่ตัว คุณ ’รงค์ส่งต้นฉบับมาเป็นกระดาษเอสี่เช่นเดิม  พวกเราก็เริ่มเบาใจขึ้น และคิดว่าคุณ ’รงค์คงจะอยู่กับพวกเราไปอีกนาน เราจึงเริ่มห่างหายสวนทูนอินไปในช่วงปีหลังๆ

 

แม้ผมจะเป็นฝ่ายอ่านงานของคุณ ’รงค์มากกว่าจะส่งงานไปให้คุณ ’รงค์อ่าน แต่เมื่อใดที่คุณ ’รงค์อ่านพบงานชิ้นไหนที่เห็นว่าเขียนดี คุณ ’รงค์ จะไม่ละเลยที่จะโทรศัพท์มาชมเชย พร้อมซักถามรายละเอียดบางเรื่องที่ไม่รู้ นับเป็นวิธีการให้กําลังใจนักเขียนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี จะมีใครบ้างที่ได้รับโทรศัพท์จาก ’รงค์ วงษ์สวรรค์ แล้วจะไม่ดีใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามันเป็นการชมเชยเรื่องงานเขียน

 

 

ความที่เคยเป็นบรรณาธิการและคนทําหนังสือมาก่อน  คุณ ’รงค์ จะให้เกียรติบรรณาธิการมาก  ไม่เคยมีการใช้สิทธิของความเป็นนักเขียนใหญ่  กดดันทวงถามสิ่งใดที่จะสร้างความลําบากใจให้กับคนทํางาน เมื่อโทรศัพท์แล้วไม่พบ คุณ ’รงค์จะเพียงแต่ฝากข้อความให้โทรกลับเท่านั้น  ยิ่งช่วงหลังคุณ ’รงค์มักจะเอ่ยปากกับผมเป็นการส่วนตัวเสมอๆ ด้วยความห่วงใยว่า “ถ้ามีเรื่องอะไรให้อาว์ช่วย อาว์จะยินดีมาก”

 

นี่คือความน่ารักของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์

 

คุณ ’รงค์รู้ดีว่าพวกเราทํางานกันด้วยทุนรอนน้อย หลายครั้งที่คุณ ’รงค์ส่งต้นฉบับมาให้ คุณ ’รงค์จะกําชับมาว่า ให้พิมพ์ตามเวลาและจํานวนที่เห็นสมควร

 

“อย่าให้เจ็บตัว ให้พวกเราพออยู่กันไปได้”

 

แม้จะมีสังกัดใหญ่ เขียนงานให้กับใครก็ได้ แต่คุณ ’รงค์ก็ยังยินดีที่จะใช้คําว่า “พวกเรา” กับคนทํางานเล็กๆ เช่นพวกเราเสมอ นี่คือความรู้สึกเป็นพวกพ้อง ที่อายุ ฐานะ ชรา กระทั่งมรณะ ไม่เคยแยก ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ออกจากวงการนักเขียนไทย ไม่ว่าจะเป็นยุคใดสมัยใด ’รงค์ วงษ์สวรรค์ จึงยังคง (หนุ่ม) เสมอ

 

เมื่อมีโอกาสสนทนากันครั้งหลังสุดเมื่อเดือนก่อน คุณ ’รงค์แสดงน้ำใจเป็นการส่วนตัวกับผม ด้วยการเอ่ยปากมอบฟิล์มภาพถ่ายขาว-ดําชุดที่กําลังจะจัดแสดงให้ผมเก็บรักษาไว้

 

“อยากทําอะไรให้รีบทําเสีย อาว์อ่อนแรงเต็มทีแล้ว” ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ส่งสัญญาณเตือนเบาๆ โดยที่เครื่องรับอย่างผม แม้จะไม่ประมาท แต่ก็ไม่ทันได้เฉลียวใจ

 

สํา หรับคนทั่วไป สิ่งที่อยู่ในมือผมคงเป็นแค่ฟิล์มเก่าที่ไม่ได้มีราคาค่างวดอะไรมากมายนัก หากสําหรับนักเขียนผู้เริ่มต้นชีวิตด้วยการเป็นช่างภาพแล้ว ผมเข้าใจว่านี่คือการมอบบางส่วนของชีวิตไว้ให้ แม้ไม่บอก  แต่ผมก็เข้าใจว่าไม่ใช่เพื่อเก็บไว้ชื่นชมเป็นสมบัติส่วนตัว หากแต่ภาพถ่ายเหล่านี้น่าจะมีส่วนในการยืดระยะเวลา คุณค่า และความงดงาม ที่วงการนักเขียนไทยมีให้กันเสมอมาให้ยาวนานต่อไป

 อย่างน้อยก็ในอีกชั่วคนหนึ่ง

 r

  หลาย ปีที่ผ่านมานี้ วงการวรรณกรรมได้ถูกกระแสการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจหนังสือ ทําให้แปรเปลี่ยนไปในทางแก่งแย่งแข่งขันกันทําการค้ามากกว่าจะเชิดชูมิตรภาพ และความงดงามของการมีชีวิต วงการหนังสือถกกันแต่เรื่องยอดขายมากกว่าคุณภาพของงานเขียน นักเขียนขายดีได้รับการยกย่องมากกว่านักเขียนเขียนดี อัจฉริยะกลายเป็นสิ่งที่สร้างได้โดยไม่มีความลับอีกต่อไป โลกยิ่งร้อน อุตสาหกรรมหนังสือยิ่งเหลือที่ทางน้อยเต็มทีให้กับนักเขียน แม้ตัวนักเขียนส่วนหนึ่งจะปรับตัวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย หากน้ำใจที่ควรมีให้แก่กัน ในฐานะมนุษย์ผู้ผจญทุกข์สุขและประสบการณ์ร่วมกันมา กลับลดน้อยถอยลงจนแทบไม่มีใครใส่ใจให้ค่า

 

อุตสาหกรรม หนังสือและสิ่งพิมพ์เลิกพูดถึงเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว และคงจะเลิกกันจริงๆ จังๆ เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงขึ้นจนต่างคนต่างก็ต้องเอาตัวให้รอด จึงไม่ใช่แต่นักเขียนชราเท่านั้นที่อ่อนแรง หากแต่สังคมทั้งหมด พวกเราทุกคนกําลังอ่อนแรงลงโดยไม่รู้ตัว ทั้งอ่อนแรงจากการแข่งขัน อ่อนแรงจากภาระทางเศรษฐกิจ รวมทั้งอ่อนแรงจากการถูกกัดกร่อนจิตวิญญาณมายาวนาน จนไม่อาจรับรู้เรื่องอื่นใด นอกเหนือจากปัญหาเบื้องหน้าของตนเอง

 

การจากไปของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ จึงเป็นเครื่องเตือนสติว่า วันเวลากําลังพร่าผลาญสิ่งงดงามในชีวิตของเราไปทีละนิด เหมือนสีของรูปขาว-ดําที่เริ่มซีดจางไปในเงาเวลา การจากไปของคุณ ’รงค์จะมีค่าเมื่อเราเริ่มตระหนักถึงความจริงเบื้องหน้า และเริ่มอยากรักษาสิ่งดีๆ เหล่านั้นเอาไว้

 

อย่างน้อยก็ในเวลาที่คิดถึง ’รงค์ วงษ์สวรรค์

 

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

ค่ำคืนวันที่ 15 มีนาคม 2552 

 

เรียบเรียงจาก : http://www.onopen.com/open-special/09-03-31/4686

 

 

Go to top