lb   ชื่อเมืองลิเวอร์พูล กลับมาอยู่ในความสนใจของมิตรรักแฟนเพลงอีกครั้งในช่วงนี้

เพราะเป็นช่วงที่มีการจัดงานเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปีของวงดนตรีร็อกชื่อก้อง เดอะ บีเทิลส์ (The Beatles) พอดี (22-28 ส.ค.2012)

 

 

 

    ลักษณะงาน เป็นการชุมนุมวงดนตรีที่ชื่นชอบและหลงใหลในเสียงเพลงของ เดอะ บีเทิลส์ จากทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนี้ มีวง “บีเทิลนัท” จากประเทศไทยเดินทางไปร่วมแสดงด้วย

บีเทิลนัท เป็นวงดนตรีที่ชูธงอุดมการณ์ร็อกของ เดอะ บีเทิลส์ มาแต่ไหนแต่ไร โดยรวมเอาสุดยอดนักดนตรีร่วมสมัยชาวไทย นำโดย ฉ่าย สมชัย ขำเลิศกุล และ พอล เภกะนันท์ ในตำแหน่งกีตาร์ , กฤษณ์ โชคทิพย์วัฒนา มือเบส และ บ๊อบ ดีลา มือกลอง

เข้าใจว่างานนี้ น่าจะมีแฟนเพลงบีเทิลส์ชาวไทย ไปให้กำลังใจ บีเทิลนัท กันถึงที่นั่น และถือโอกาสร่วมงานฉลอง 50 ปีของเดอะ บีเทิลส์ ที่ลิเวอร์พูลอย่างคับคั่ง  ซึ่งไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะพูดถึงเมืองนี้ในแง่มุมของดนตรี นอกเหนือจากกีฬาฟุตบอล ที่อยู่ในความสนใจมาโดยตลอด

ลิเวอร์พูล เป็นเมืองท่าสำคัญของอังกฤษ  มีบทบาทในการติดต่อค้าขายมาแต่โบราณ ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของปากแม่น้ำเมอร์ซีย์ เพิ่งฉลองครบรอบ 800 ปีไปเมื่อ 5 ปีก่อน นอกจากนั้น ยังได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองหลวงทางวัฒนธรรมของยุโรป และมีพื้นที่หลายส่วนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอีกด้วย

ลิเวอร์พูล จัดเป็นสถานที่เกิดของวงดนตรีวงนี้ เพราะสมาชิกวงทั้งหมด ต่างเติบโตจากเมืองนี้ ทั้ง จอห์น เลนนอน , พอล แมคคาร์ทนีย์ และ จอร์จ แฮร์ริสัน โดยมี ริงโก สตาร์ร เป็นมือกลองที่มาแทนที่มือกลองคนเดิม ในช่วงเดือนสิงหาคมของปี ค.ศ.1962  อันถือเป็นจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์ของ เดอะ บีเทิลส์ อย่างเป็นทางการ

เมื่อได้มือกลองคนใหม่ พวกเขาบันทึกเสียง Love Me Do กันอีกครั้ง ในวันที่ 4 กันยายน 1962 ที่ แอบบีย์โร้ด สตูดิโอ ในนครลอนดอน และเพลงนี้ได้กลายมาเป็นซิงเกิลแรก ที่ทำให้โลกรู้จัก 4 หนุ่มคนนี้ที่มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ดนตรีร่วมสมัยในเวลาต่อมา

การเสียชีวิตของ จอห์น เลนนอน ในปี 1980 และ จอร์จ แฮริสัน ในปี 2001 ทำให้ปัจจุบัน เหลือสมาชิกของ เดอะ บีเทิลส์ เพียง 2 คน โดย ทั้ง พอล แมคคาร์ทนีย์ และ ริงโก สตาร์ ยังมีผลงานเพลงอย่างต่อเนื่อง

ที่ผ่านมา มีเพลงที่เกี่ยวกับเมืองลิเวอร์พูลเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะโดย เดอะ บีเทิลส์ และศิลปินเพลงคนอื่นๆ ที่เขียนขึ้นทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ดังตัวอย่างเพลง Penny Lane หรือ Strawberry Fields Forever ของ เดอะ บีเทิลส์ หรือจะเป็นเพลง In Liverpool ของ ซูซาน เวกา และเพลง Going Down to Liverpool ของ เดอะแบงเกิลส์ แต่เก่ากว่านั้นคงหนีไม่พ้น Leaving of Liverpool ที่เป็นเพลงโฟล์คเก่าแก่ที่ร่ำร้องกันมาเนิ่นนาน และหลายคนอาจจะรู้จักในชื่อเพลง Fare Thee Well, My Own True Love

ด้วยเหตุผลของการเฉลิมฉลองความเป็นเมืองลิเวอร์พูล ในฐานะเมืองวัฒนธรรมในปี 2008 (European Capital of Culture) ริงโก สตาร์ร จึงแต่งเพลง Liverpool 08 ขึ้น  โดยเพลงนี้ เป็นคล้ายๆ กับอัตชีวประวัติของเขา เพราะมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับชีวิตของเขา ความผูกพันกับ เดอะ บีเทิลส์ และเมืองลิเวอร์พูล

“Livepool I left you, said goodbye to Madryn Street
I always followed my heart, and I never missed a beat 
Destiny was calling, I just couldn’t stick around
Liverpool I left you, but I never let you down
Went to Hamburg, the red lights were on
With George and Paul, and my friend John
We rocked all night, we all looked tough
We didn’t have much, but we had enough”

เนื้อร้องของเพลง กล่าวถึงสภาพแวดล้อมของเมืองลิเวอร์พูล ตั้งแต่อาชีพกะลาสีเรือ การบอกลาถนนแมดริน อันเป็นถิ่นอาศัยเดิม การออกเดินทางไปแสดงดนตรีในเมืองแฮมบวร์ก เยอรมนี ร่วมกับเพื่อนๆ วงเดอะ บีเทิลส์ กับแสงสีในย่านโลกีย์ จนถึงความสำเร็จอันรุ่งโรจน์จากการขึ้นถึงอันดับ 1 ของชาร์ทเพลงในสหรัฐอเมริกาได้เป็นผลสำเร็จ

นับเป็นอีกแง่มุมหนึ่งของเมืองลิเวอร์พูล แต่งโดย “สเกาส์” หรือ “ลิเวอร์พัดเลียน” ตัวพ่อ ที่อาจจะไม่มีเรื่องของฟุตบอลมาเกี่ยวข้องแม้แต่น้อย.

 

Song : Liverpool 08
Artist : Ringo Starr
Place : Liverpool 
Population :  1.365 million (metro)
Time Zone : UTC + 0 
Country : UK

 

lb

 
lb
 
lb
 
 
 
 
 
 
ที่มาจาก http://www.bangkokbiznews.com/  
 
 
 
 
 
 
Go to top