บทความนี้เป็นเรื่องราวของคุณ คิม นพวรรณ ใน "ตลาดแลงเมืองเลย" กับความอัธยาศัยดีของพ่อค้าแม่ค้าและอาหารการกินบ้านเรา เลยเอามาแชร์ให้อ่านค่ะ

 ภายหลังที่เข้าไปยังโรงแรมที่พักแล้ว  รอเวลาเย็นที่ได้รับคำแนะนำมาว่าแม่ค้าจะออกมาขายของตอนเย็นที่ "ตลาดแลง" ฉันทำหน้าที่จูงมือแม่หนูน้อยสองคนน้องนัทและน้องนุ่น  ฝ่าสายฝนที่ตกปรอย ๆ เรียกรถสามล้อเครื่องพาพวกเราไปตลาดแลง  ตามปกติราคาคนละ ๒๐ บาท  แต่ด้วยได้เจอคนดีเขาจึงลดราคาให้ ๑๐ บาทโดยไม่ต้องต่อราคาแต่อย่างใด 

 
       ตลาดแลง  เป็นตลาดสดที่ขายสินค้าแทบทุกอย่างแต่เน้นหนักไปในด้านอาหารการกิน  ที่นี่เราได้พบอาหารพื้นถิ่นที่เคยรู้จักและไม่เคยรู้จักมาก่อน  แม้ว่าฉันเองจะเคยผ่านการใช้ชีวิตอยู่ที่ภาคอิสานมานานหลายปี  แต่บางอย่างฉันเพิ่งจะเคยเห็นและรู้จักในครั้งนี้เช่นเดียวกับแม่หนูน้อยทั้งสอง
 
          บางคนเรียกชื่อตามสีของเห็ดว่าเห็ดแดง  รวมทั้งเห็ดสีอื่น ๆ เป็นเห็ดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ  ในฤดูฝนเท่านั้น  ชาวเมืองนิยมนำมาแกง  และต้องมีวิธีการเลือกเห็ดที่จะนำมาเป็นอาหาร  ภูมิปัญญาได้สอนว่า "หากเห็ดมีพิษจะไม่มีหนอนแทะกิน หรือใช้ข้าวสารใส่แกงลงไปด้วย หากเห็ดมีสีดำแสดงว่าเป็นเห็ดมีพิษ"
 
        เห็ดหอม  เป็นที่ขึ้นชื่อของเมืองเลย และเป็นเห็ดเศรษฐกิจของจังหวัด  มีการเพาะเลี้ยงเห็ดหอมกันมากแทบทุกอำเภอ  โดยเฉพาะอำเภอภูเรือ และอำเภอภูหลวง  นอกจากที่ตลาดสดแล้ว  เราจะพบว่าร้านค้าสองข้างทางมีการขายเห็ดหอมจำนวนมาก  รวมทั้งการส่งออกไปยังร้านอาหารและตลาดของจังหวัดใกล้เคียง
 
         เห็ดไค  เป็นเห็ดประเภทเดียวกับเห็ดเครื่อง  ราคาสูงกว่าถึงกิโลกรัมละ ๓๐๐  บาทเฉพาะดอกตูม ๆ ส่วนดอกเห็ดที่บานราคาจะลดลง  ชาวเมืองบอกว่าเป็นสุดยอดของเห็ด  มีกลิ่นหอมและรสชาติดี นิยมนำมาแกง  และนำมาย่างหรือหมกด้วยใบตองก่อนทำน้ำพริกหรือแจ่ว
 
           ดอกขิง  นิยมนำมาลวก ต้ม นึ่งจิ้มน้ำพริก นำมาผัดขิง หรือหั่นใส่แกงป่า แต่ปัจจุบันร้านค้าดอกไม้สด  นิยมนำมาจัดตกแต่งแจกันสำหรับประดับประดาเพื่อความสวยงาม
 
          กบภูเขา  มีลักษณะขายาว ๆ ตัวผอมสีเหลือง  แม่ค้าบอกว่ารสชาติดีกว่ากบธรรมดา  กบที่เห็นอยู่นี้เป็นสินค้า  Import  จากบ้านพี่เมืองน้องของเรา  กบชนิดนี้จะอาศัยอยู่ตามโขดหินบนภูเขา
 
          หนังวัวดอง  จะไม่เหนี่ยวหนืดและยุ่ยอ่อนนุ่มกว่าหนังที่ไม่ได้ดอง  นิยมนำไปทำแกงป่า  แกงเลียง แกงอ่อม ต้มยำและนำไปย่างเพื่อรับประทานเป็นกับแกล้ม
 
       ตัวต่ออ่อน  ผ่านการนึ่งให้สุกมาแล้ว  ราคาค่อนข้างแพง  นิยมนำไปทำน้ำพริ แกงป่า แกงเลียงและต้มยำ หรือบางคนก็นิยมรับประทานเป็นของว่างเหมือนดักแด้ เป็นสินค้าจากบ้านพี่เมืองน้องอีกเช่นกัน  ไม่ทราบว่ากฏหมายคุ้มครอง ฯ ของบ้านพี่เมืองน้องเป็นอย่างไร
 
        รถด่วน  ได้มาจากลำต้นไม้ไผ่  ทราบว่าไม้ไผ่แต่ละกอไม่ได้มีตัวรถด่วนเสมอไป  คนที่มีอาชีพหาของป่าจะต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญสูง  ในการหาตัวรถด่วน  เป็นสินค้าจากบ้านพี่เมืองน้อง  อีกอย่างหนึ่ง
 
            แมงแคง  คนธรรมดาที่ไม่คุ้นเคยจะรู้สึกว่ามีกลิ่นฉุนมาก  ชาวเมืองนิยมนำไปทำน้ำพริกเพิ่มรสชาติและเพิ่มกลิ่นที่มีความรู้สึกว่าหอมแต่ไม่ฉุนนั่นเอง   คนขายบอกว่าบางคนนำไปรับประทานเป็นของว่าง
 
         ดอกบวบ  ทั้งดอกอ่อนและดอกบวบที่บานแล้ว  ถูกนำมามัดรวมกับยอดบวบ  นิยมนำไปแกงเลียง ต้ม ลวกหรือนึ่งจิ้มน้ำพริก  บอกว่ามีกลิ่นหอมและรสชาติดีกว่ารับประทานบวบเป็นลูก ๆ
 
           พืชผักเมืองหนาว   มีดาษดื่น  คะน้า กระหล่ำดอก กระหล่ำปลี กวางต้ง ผักกาดหอมและผักอื่น ๆ มีทุกฤดูกาล
 
           น้องวัว  ได้มาจากรกของวัวตัวเมีย  หลังจากออกลูกวัวตัวอ่อน  จะมีรกออกตามมา  เจ้าของวัวต้องไปเฝ้าเก็บรก  ราคาไม่ธรรมดา  และเป็นที่นิยมของคนทั่วไป  นิยมนำไปต้มยำ   
          จะเห็นว่าสองแม่หนูน้อย ตื่นเต้นและมีความสุขที่ได้ชมตลาดแลงเป็นอย่างมาก  และด้วยอัธยาศรัยของพ่อค้าแม่ค้า  ได้แนะนำให้พวกเราไปที่ตลาดอีกแห่งหนึ่ง  บอกว่าที่นั่นมีของป่าที่มาจากบ้านพี่เมืองน้องมากมาย  แม่หนูน้อยทั้งสองยกมือไหว้ขอบคุณพ่อค้าแม่ค้าทุกคนเสมอ  ดูเหมือนจะเป็นที่ประทับใจของชาวตลาดด้วย  การเรียนรู้วิถีชีวิตที่ตลาดแลงจึงจบลง 
         ที่นี่ได้พบกับความงดงาม  ความมีน้ำใจจากพ่อค้าแม่ค้าช่วยอธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเราอยากรู้  ไม่รังเกียจรังงอนและเต็มใจอธิบายด้วยหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ยินดีให้เราถ่ายภาพได้ตามต้องการ  และสนใจถามไถ่ว่าพวกเราเป็นใครมาจากที่ไหน  พวกเราไม่ลืมและจะรำลึกถึงตลอดไป
 
 
 
ขอขอบคุณ คุณคิม นพวรรณ
Go to top