หลังจากที่ Isuzu รุ่นมังกรทอง 87 แรงม้าได้สร้างชื่อ ในเรื่องของการเป็นรถยอดประหยัดน้ำมัน และความทนทานเป็นเยี่ยม ตลอดจนถึงรูปแบบตัวถังที่ค่อนข้างจะทันสมัยที่สุดในเวลานั้น และสร้างยอดจำหน่ายรถยนต์จนติดตลาด เหมือนกับว่าวติดลมบน จนได้กลายเป็นยอดรถขวัญใจคนทำมาหากิน และกลายเป็นเจ้าแห่งต้นตำนานระบบเผาไหม้แบบ Direct Injection จนถึงขนาดมีค่ายคู่แข่ง ต้องทำเครื่องยนต์รูปแบบเผาไหม้เหมือนกันมาเทียบเคียง จนกระทั่ง Isuzu เองต้องออกมาเกทับบลั๊ฟแหลกว่า ไดเร็คท์อินเจ็คชั่นของแท้ต้อง อีซูซุ ว่าเข้าไปนั่น
แล้วต่อมาในปี 1995 ( พ.ศ. 2538 ) ก็ถึงยุคการปรับปรุงใหม่อีกครั้ง เพื่อเรียกกระแสแห่งรถยอดนิยมให้คงอยู่ตลอดกาล โดยมีการเปลี่ยนแปลง เขียนคิ้วทาปาก และปรับปรุงเครื่องยนต์ขึ้นใหม่ด้วย เพราะถ้านิ่งอยู่อาจจะพ่ายแพ้คู่แข่งที่นับวันพยายามที่จะพัฒนารถในค่ายของตัวเองออกมาให้ดูดีและทันสมัยขึ้นเรื่อยๆ และในการปรับปรุงครั้งนี้ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงการเปลี่ยนปลีกย่อย หรือที่เราเรียกกันว่า Minor Change ก็ตามที แต่ก็แฝงไว้ด้วยความเปลี่นแปลงปลีกย่อยในหลายๆส่วนเลยทีเดียว โดยให้ชื่อรุ่นใหม่นี้ว่า New Faster Z 2500 Di ซึ่งจุดเด่นก็คือการพัฒนาเครื่องยนต์จากรุ่นเดิมที่มีพลกำลัง 87 แรงม้า ก็มาเป็น 90 แรงม้า โดยที่ตัวฝาครอบวาล์วจะมีการ พ๊ะตัวอักษรปั๊มนูนโชว์ 90 HP ไว้ข่มขวัญคู่แข่ง ส่วนหัวฉีดก็ได้พัฒนาให้มีรูหัวฉีด 5 ทิศทาง และนอกจากนี้ในรุ่นใหม่นี้ยังได้ปรับปรุงระบบกันสนิมใหม่ โดยการใช้ชิ้นส่วนตัวถังส่วนใหญ่เป็นเหล็กอาบกาลวาไนซ์ และผ่านกระบวนการชุบสีกันสนิมที่ทันสมัยคือ ระบบ Elecron Cation EDP นั่นเอง และนอกจากนี้ในส่วนตรงชายล่างตัวถังรถทุกๆรุ่นนี้ ยังได้พ่นเคลือบพิเศษ Chipping Coat อีกด้วย ที่สำคัญยังคงมีรูปแบบให้เลือกการใช้งานได้ครบทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็น Spark EX รถขวัญใจนักขนตัวจริง หรือจะเป็นรุ่น Space cab SL ที่มีห้องโดยสารที่กว้างขวาง สะดวกสบายขึ้น ไปจนถึงรุ่น Top สุด นั่นก็คือ Space Cab SLX และยังมีรถขับเคลื่อนสี่ล้อให้เลือกเล่น คือ Rodeo SL ซึ่งในสมัยนั้น รถกะบะขับเคลื่อนสี่ล้อในบ้านเรา ยังไม่มียี่ห้อไหนที่ประกอบในบ้านเราเลย แม้แต่ค่ายคู่แข่ง ก็ยังเป็นรถนำเข้าอยู่ แต่ ทาง Isuzu ได้รุกตลาดตัวนี้ด้วย พร้อมทั้งรุ่นสุดท้าย รถตระกูลแวน ยอดฮิต คือ Isuzu Cameo ก็ยังคงได้มีให้ลูกค้า ได้เลือกซื้อใช้งานกันตามอัธยาศัย
โดยเริ่มจาก รถขวัญใจนักขนระดับพระกาฬ ก่อนเลยก็แล้วกัน นั่นก็คือ ISUZU SPARK EX
ซึ่งในรุ่นนี้ ถึงแม้ว่ายังยืนยันหน้าตาแบบกระจัง 3 ช่อง ชุบโครเมี่ยมเดิมๆ มาก็ตามที แต่ก็ได้เปลี่ยนโคมไฟใหม่ให้ใช้แบบฮาโลเจน เพื่อเพิ่มความสว่างสดใสยามค่ำคืน และเปลี่ยนตัวระบบเครื่องทำความเย็นใหม่ ใช้น้ำยาแอร์ระบบ R134a เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมแล้ว ยังได้วางเครื่องตัวใหม่ 90 แรงม้ามาให้ ส่วนของกันชนหน้าแบบสองชิ้น คือ ชิ้นบนเป็นโลหะปั๊มขึ้นรูป 3 ชิ้น พ่นสีดำด้าน และชิ้นชายล่างเป็นพลาสติกยูเรเทนดำด้านเช่นเดียวกัน และในส่วนของไฟเลี้ยวด้านข้างยังคงจะใช้สีส้มล้วนเหมือนเดิม ส่วนกระจกมองข้างนั้นจะยังคงใช้สีดำเป็นหลัก ตรงประตูส่วนที่เหนือการทับร่องเสริมแข็งยังคงมีสติ๊กเกอร์ข้างตัวถังรถบอกรุ่น Spark Ex ชัดเจน ไว้เพื่อแสดงรุ่น และในรุ่นนี้ตัวมือจับเปิดประตูภายนอก ได้ใช้พลาสติกสีดำแล้ว ไม่ใช่ชุบโครเมี่ยมแบบรุ่นก่อนหน้านี้ ในส่วนของเบาะนั่งจะป็นแถวเดี่ยวแบบยาว โดยมีหมอนรองศรีษะให้ทั้งฝั่งคนขับ และผู้โดยสาร พร้อมทั้งเพื่อให้เข้ากับมาตรฐานความปลอดภัย ในรุ่นนี้ได้แถมเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดมาให้ในส่วนของคนขับแล้ว แต่ในส่วนของคนผู้โดยสารยังเป็นแบบสองจุด เช่นเดิม คราวนี้มาดูในส่วนของกะบะท้าย จะมีโครง Roll bar หรือ โครงสำหรับพาดของยาวให้เป็นมาตรฐานจากโรงงาน ฝาท้ายยังเป็นแบบขอยึด 2 ด้าน โดยมีการประทับตรา Isuzu ตัวใหญ่สีขาว โดยมมี มิติของตัวกะบะที่ความยาว 2,295 มม. และความกว้างคือ 1,530 มม. และเช่นกันในส่วนของชุดโคมไฟท้ายนี้ ก็ไม่ได้ใช้การชุบโครเมี่ยมเหมือนรุ่นก่อนๆ นี้แล้ว แต่ใช้เป็นขอบดำเหมือนมือเปิดประตูเพื่อให้เข้าชุดกัน ส่วนกระทะล้อยังให้เป็นล้อเหล็ก ขนาด 5J x 14 แบบน๊อตล้อ 6 ตัว ล้อมรัดไว้ด้วยยางขนาด 195 R 14 C-8 PR ส่วนระบบพวงมาลัยยังคงจะใช้ระบบลูกปืนหมุนวน หรือแบบบอลนัท พร้อมระบบยุบตัวได้ อันเป็นเอกลักษณ์ของ Isuzu แต่ในรุ่นนี้ยังคงไม่ได้ระบบพาวเวอร์มาเป็นมาตรฐานเหมือนกับรุ่นอื่น ๆ ยังคงเป็นพาวเย่อหมุนกันหน้าตั้งต่อไป ตอนเปิดตัวนั้นเคาะราคาอยู่ที่ 302,000 บาทเท่านั้น
ขยับมาดูรุ่นที่สูงขึ้นไปอีกนิด ก็คือรุ่น Space cab SL ซึ่งเป็นรถกะบะแบบมีแค็บหลังยอดนิยม อันเนื่องมาจากที่ Isuzu ได้เปิดตัวรถกะบะมีแค็บ ยี่ห้อแรกในประเทศไทย และยังคงได้มีรถกะบะแค็บต่อเนื่อง และก็ขายดิบขายดีต่อเนื่องกันมา ถึงแม้ว่าค่ายคู่แข่งอื่นๆ เพิ่งจะหันมาตื่นตัว ทำรถรุ่นมีแค็บหลัง เหมือนกันในภายหลังก็ตามที
โดยมาในปีนี้ ได้มีการเขียนคิ้วทาปาก แต่งหน้า แต่งตากันใหม่ เริ่มจากกระจังหน้าจากเดิมๆ ที่เป็นกระจังแบบ ลายสี่เหลี่ยมข้าวหลาม พร้อมโคมไฟหน้า แบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าในรุ่นก่อนนี้ ก็มาเป็นลายกระจังหน้าแบบชุบโครเมี่ยมทั้งอัน มีซี่กระจังเป็นแนวนอนพร้อมกับที่ทำชายส่วนกลางของกระจังให้ย้อยลงมา โดยได้ทำกันชนหน้าชิ้นบน เว้าหลบตัวกระจังมาให้ ทำให้ลดความเหลี่ยมแบบแข็งๆ ในสายตาได้ดีทีเดียว ( ที่มาของรุ่นหน้าย้อย ก็จากเจ้ากระจังหน้านี่แหละ ) พร้อมกับโคมไฟหน้าแบบ Halogen อันได้ชื่อถึงความสว่าง และความสะดวก ในการเปลี่ยนหลอดไฟ ยามเมื่อตัวหลอดขาดเสียหายไม่ต้องเปลี่ยนกันทั้งโคมแต่ประการใด ในเที่ยวนี้ ตัวโคมได้เปลี่ยนรูปแบบเป็นสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ดูสวยงามกลมกลืนเข้ากับรูปทรงของกระจังหน้า และทางด้านไฟเลี้ยวด้านข้าง ก็เปลี่ยนจากเดิมที่ใช้ตัวโคมสีส้มเพียวๆ ในรุ่นก่อนหน้านี้ ก็มเป็นแบบ โคมใสให้ มีไฟหรี่มุมในตัว เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและดูสวยงามในยามค่ำคืน พร้อมยังมีไฟเลี้ยวในตัวโคมเดียวกันให้อีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นยุคแรกๆ ของรถกะบะ ที่ทำโคมไฟหรี่ ไฟเลี้ยว ที่มุมสไตล์รถเก๋ง ไว้ในชุดเดียวกันนั่นเอง ส่วนตัวกันชนนั้น ยังคงแบ่งเป็นสองชั้น เหมือนเดิมในรุ่นก่อนๆ หน้านี้ เพียงแต่สำหรับเจ้ารุ่น SL นี้ ได้ทำชิ้นบนกลางเว้าหลบกระจังแล้ว พ่นสีดำมาให้ ในส่วนล่างก็ยังคงเป็น พลาสติกโพลียูเรเทน ที่ทนทานไม่แตกหักง่าย โดยในกันชนส่วนชิ้นล่างนี้ก็ยังคงเป็นที่อยู่ของ เจ้าไฟหรี่ และไฟเลี้ยวสีส้ม เหมือนในรุ่นก่อนๆ และส่วนตรงกลางที่ดักลมเข้ามาระบายความร้อนหม้อน้ำ ก็ทำเป็น ซี่ใหญ่แนวนอนเพียงซี่เดียว
โดยในรุ่นนี้ตัวกระจกมองข้างจะยังคงให้เป็นสีดำของเนื้อพลาสติกยูเรเทน ส่วนในกระจกทางด้านแคปนั้น ยังคงมีสติกเกอร์ติดคาดไว้ที่ชายล่างส่วนของกระจกเป็นสองแถว โดยแถวบน มีคำว่า Spacecab ส่วนแถวที่สอง มีคำว่า SL ทำให้ดูสวยงามไม่โล้นเลี่ยนเกินไป จากนั้นในส่วนของมือเปิดประตู และตัวโคมไฟท้าย ได้เปลี่ยนจากพลาสติกเนื้อดีชุบโครเมี่ยม มาเป็นพลาสติกยูเรเทนสีดำแทน ทำให้ดูขรึมดุดันขึ้น ในส่วนของตัวฝาท้ายนั้น จะยังคงเป็นระบบล๊อคสองข้างแบบหูล๊อค ที่ยังคงมาตรฐานความปลอดภัยในการใช้งานได้ดี และส่วนของด้านข้างตัวถังนั้น ก็ยังคงทับร่องเสริมแข็งตรงส่วนกลางของตัวถัง ให้มั่นใจและเป็นการเสริมให้ด้านข้างดูไม่ราบเรียบเกินไป ในส่วนของซุ้มล้อหน้า และหลังก็ยังคงขึ้นรูป เป็นโป่งโค้งเล็กๆ รับเข้ากับซุ้มล้อดูสวยงามดีเหมือนรุ่นก่อนๆ และในรุ่นนี้จะยังคงให้เป็นล้อกระทะเหล็กขนาด 14 นิ้ว โดยจะมีดุมตรงกลางเล็กๆ เป็นฝาครอบสีดำ พ๊ะคำว่า Di ให้เหมือนกับรุ่นก่อนๆ แต่หากใครต้องการล้อแม๊ก ก็มีออฟชั่นให้เลือกเสียเงินเพิ่มตามใจลูกค้าด้วยเช่นกัน ในสัดส่วนของกะบะท้ายนั้นจะมีมิติดังนี้ ความยาวกะบะที่ 1,842 มม. ความกว้างที่ 1,530 มม. จะสั้นกว่ารุ่น Spark EX พอควร เพราะต้องหั่นพื้นที่ไปเพิ่มในส่วนของแค็บหลังนั่นเอง
ส่วนภายในห้องโดยสารนั้น ยังคงใช้จอเรือนไมล์ สไตล์จอนักบิน แบบเดิมๆ ที่ดูสวยงามลงตัว โดยปุ่มกดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ปัดน้ำฝน หรือ ไฟหน้า ไฟหรี่ จะใช้ระบบกดเอาแบบรถยุโรปดูเก๋ไก๋ดีจึงยังคงไว้ แต่ในส่วนของระบบปรับอากาศที่นอกจากจะใช้ระบบน้ำยาแอร์ R134a แล้วก็ตาม ยังคงจะใช้ระบบความแรงของพัดลมเพิ่มขึ้นเป้น 4 ระดับ ( รุ่นก่อนหน้านี้มีเพียง 3 ระดับเท่านั้น) พร้อมกันนี้ยังมีไฟหรี่ที่ตัวสวิทซ์ปรับระดับแอร์ และพัดลม เพื่อความสะดวกในยามค่ำคืน ที่นอกจากจะเห็นได้ชัดเจนแล้ว ยังดูสวยงามอีกด้วย และพร้อมกันนี้ได้เพิ่มช่องลมแอร์ ที่ด้านใต้เก๊ะเก็บของหน้าผู้โดยสาร และยังเพิ่มให้กับที่ใต้คอพวงมาลัยคนขับอีกด้วย ส่วนพวงมาลัยได้เปลี่ยนจากทรงเหลี่ยมๆ ที่แกนกลางเดิม มาเป็นทรงที่อวบจับกระชับมือขึ้น ตรงแป้นแตรตรงกลางได้ลบเหลี่ยมสันลง ดูความเป็นสปอร์ตมากขึ้น และพ๊ะคำว่า Isuzu แทนแบบเก่าซึ่งใช้เป็นโลโก้ อยู่ นอกจากนี้ในรุ่นนี้ ที่แต่เดิมไม่มีคอนโซลมาให้ ก็ได้ติดตั้งคอนโซลตรงกลางระหว่างที่นั่งคนขับกับผู้โดยสารมาให้เรียบร้อย แต่ดูจะเล็กไปนิดหนึ่ง แต่เข้าใจว่า ทางผู้ออกแบบคงไม่ต้องการให้เกะกะขณะใช้งานตัวรถและไม่รู้สึกอึดอัดเพราะมีตัวคอนโซลกลางมาคั่นกลางไปก็เป็นได้ครับ ในส่วนของเบาะนั่งนั้นเป็นเบาะแบบบักเก็ตซีท ที่ใช้หนังเทียมไวนิลล้วนๆ เพื่อการดูแลรักษาง่ายนั่งสบาย และให้เข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด ทั้งฝั่งที่นั่งคนขับ และผู้โดยสารเป็นมาตรฐานจากโรงงานอีกด้วย นอกจากนี้ในรุ่นนี้พื้นรถได้บุพรมมาให้เรียบร้อยดูหรูหราขึ้นไม่เบาเลยทีเดียว อ้อ ! แล้วที่สำคัญ ใน New Faster Z 2500 Di Spacecab SL ใหม่นี้ได้มีระบบเกียร์อัตโนมัติมาให้เลือกใช้ได้อีกด้วย นับเป็นประวัติการณ์ ของวงการปิคอัพ หรือรถกะบะเมืองไทยในสมัยนั้นเลยทีเดียว ราคาเคาะขายในสมัยนั้น เริ่มต้นกันที่ 327,500 บาท ( ยังไม่นับพวกออฟชั่นเสริมที่ต้องการหรือเสริมเข้าไปต่างหาก)
คราวนี้เราก็มาถึงรุ่นท๊อป หรือรุ่นสูงสุด ของรถ Isuzu นี้กันบ้าง ซึ่งก็คือ SPACECAB SLX
รุ่นนี้ถือว่าเป็นรุ่นสูงสุด และราคาแพงที่สุดใน 3 รุ่นนี้ก็ว่าได้ เป็นรถสำหรับผู้ที่มีรสนิยมหรูหรา และไม่ได้ใช้รถกะบะเพื่อการขนของเพียงอย่างเดียวเท่านั้น มาว่ากันในเรื่องของสัดส่วนภายนอกกันก่อนเลยก็แล้วกัน ในส่วนของรูปทรงนั้นจะเหมือนกับรุ่นก่อนหน้านี้คือ SL ทุกประการ แตกต่างกันที่รายละเอียดปลีกย่อยก็คือ ในส่วนของกันชนนั้น ถึงแม้จะทำเป็นแนวสันตรงๆ เหมือนกับรุ่น Spark EX ก็ตาม แต่ก็ได้ทำสีสรรพ์ (สัน) ให้เข้ากับสีของตัวรถได้อย่างเหมาะเจาะ และรับกับกระจังหน้าที่เป็นพลาสติกหล่อ ให้มีช่องรับลมเป็นทรงรี ซึ่งได้ทำสีเดียวกับตัวรถเช่นกัน ( ทำให้บางคนว่าเหมือนหน้าหนู ก็เลยเรียกกันว่า รุ่นหน้าหนูติดปากมา ) ซึ่งดูสวยงามหรูหราดีทีเดียว ( แต่ก็มีหลายๆเสียงว่า สไตล์กระจังหน้ารุ่น SL เข้าตากว่า ก็ว่ากันไปเข้าตำรา 3 คน ยลตามช่องนะครับ ) ส่วนโคมไฟหน้า ก็จะเป็นทรงสี่เหลี่ยมคางหมู แบบเดียวกับรุ่น SL รวมทั้งไฟหรี่ และไฟเลี้ยวมุมด้วยเช่นกัน ตัวบานประตู ใช้ตัวเดียวกับเพื่อนร่วมรุ่นทั้งสอง แต่ที่เหนือกว่าก็คือ ตัวกระจกมองข้างที่ได้ทำสีให้เข้ากับตัวรถ ดูเก๋ไก๋รสนิยมวิไลไม่เบา และส่วนตรงด้านเหนือทับร่องประตูก็แปะสติ๊กเกอร์คำว่า Limited มาให้เพื่อเป็นการการันตีว่านี่คือ รุ่นสุดท๊อปแล้ว และในรุ่นนี้จะติดเส้นยางกันกระแทกสีเทาเข้ม สวยงามตลอดรอบคันมาให้เป็นที่เรียบร้อย ในส่วนของกระจกแค๊ปหลังนั้น ก็พะสติ๊กเกอร์มาให้ว่า Spacecab และมีคำว่า SLX ในวงรีสีขาว ต่อท้ายด้วยคำว่า limited อีกที เพื่อประกาศศักดิ์ศรีของเจ้าของรถคันงามนี้ และด้านใต้ก็จะมีคำว่า Power Steering นอกจากนี้ รุ่นนี้จะมีมาตรฐานของล้อที่ให้เป็น ล้อแม๊กซ์ ลายกงจักรใหม่ สวยงามดูดีกว่าแม๊กซ์ที่ติดมากับรถรุ่น Cameo ปี 94 ที่นำเข้าจากประเทศแม่เสียอีก โดยล้อจะเป็นแบบหน้ากว้าง 5.5 นิ้ว ขอบ JJ รํศมี 14 นิ้ว ระยะออฟเซ็ทที่ให้มา +20 ล้อมรัดไว้ด้วยยางเรเดียลขนาด 205/75 R 14 C-6PR ของยี่ห้อ บริดกระโจน เอ้ย ! บริดสโตนจ์ รุ่น โนโว และที่สำคัญรถรุ่นนี้จะใช้สีแบบลูไซท์เมทาลิคและสีสั่งพิเศษคือ บรอนซ์เมทาลิค โทนใหม่ สีฟ้าอ่อนสวยสดใส ( และสีนี้จะเป็นสีที่มียอดจำหน่ายดีที่สุดของรุ่นด้วย ) ซึ่งจะเป็นสีพิเศษเฉพาะรุ่นนี้เท่านั้นที่จะทำสีนี้ได้
คราวนี้เรามาดูภายในกันบ้าง สำหรับภายในนั้นอุปกรณ์ส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็น แผงคอนโซล หรือ คอนโซลกลางจะยังคงเป็นตัวเดียวกับ SL แต่ก็เพิ่มความหรูหราขึ้นด้วย ประตูระบบเซ็นทรัลล๊อคจากโรงงาน พร้อมกระจกหน้าต่างก็จะเป็น ระบบเพาเวอร์วินโดว์ ไม่ต้องมาหมุนไขกระจกกันให้หน้าตั้งอีกต่อไป ซึ่งก็ถือว่าเป็นครั้งแรกของวงการรถกะบะบ้านเราในสมัยนั้นเลยทีเดียวที่รถกะบะมีให้กันถึงขนาดนั้น และนอกจากนี้ ที่ยังเพิ่มความหรูหรามีระดับด้วยเบาะนั่งยังเป็นแบบบัคเก็ทซีท ที่บุด้วยผ้ากำมะหยี่สีสันสวยงามในส่วนกลาง ทำให้เวลาจอดตากแดดขึ้นไปนั่งไม่ร้อนจัดจนอะไรต่อมิอะไรใต้ร่มผ้าแทบพอง เหมือนเบาะไวนีล และยังคงมีช่องแอร์พิเศษใต้คอนโซล เหมือนรุ่น SL เพื่อไว้เป่าอะไรๆ ให้มันเย็นชื่นใจ เวลาขับรถนานๆอีกด้วย พร้อมกันนี้ สำหรับรุ่นนี้จะยังคงให้พวงมาลัยเพาเวอร์มาเป็นมาตรฐานของตัวรถ โดยไม่ต้องเป็นออฟชั่นสั่งพิเศษเหมือนกับรุ่นก่อนหน้านี้ ทำให้เบาแรงนุ่มสบาย ดุจดั่งกำลังขับรถเก๋งหรูๆเลยทีเดียว พร้อมกันนี้มีพรมปูพื้นสีเทาสวยงาม พร้อมที่พักเท้าซ้าย ให้ผ่อนคลายเวลาขับรถทางไกลที่ไม่ต้องเหยียบครัชท์บ่อยๆอีกด้วย และที่สำคัญยังมีรุ่นเกียร์อัตโนมัติ สำหรับสิงห์ขี้เมื่อยที่ขี้เกียจเหยียบครัชท์ ให้เลือกใช้ได้เช่นเดียวกับรุ่น SL ด้วยเช่นกัน ส่วนมิติของตัวถังนั้นก็เท่ากับรุ่น SL ก่อนหน้านี้ ราคาเคาะขายในยุคนั้นว่ากันที่ 370,500 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูงของรถกระบะในยุคนั้นเลย
และแล้วเราก็มาถึงอีกตัวของรุ่น ก็คือ รุ่น RODEO LS 4 WD สำหรับเจ้าตัวนี้หลังจากที่ได้กินดิบในตลาดรถยนต์กะบะออฟโรด ( แบบที่ใช้กับออนโรดได้ด้วย ) มาหลายปีเช่นกัน มางวดนี้ได้ ไมเนอร์เชนจ์หน้าตาใหม่เหมือนกับรุ่นที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ดวยเช่นกัน โดยคงความสวย สดใส สะดุดตา ของลายสติ๊กเกอร์คาดแบบ Natural สีทองที่ด้านข้างของตัวถัง และได้เปลี่ยน ตัวอักษรคำว่า 4WD ที่เคยเป็นพลาสติกชุบโครเมี่ยม พร้อมกับสีแดงที่ตัวเลข 4 มาเป็น เรซิ่นทรงวงรีสีดำ ที่มีตัวอักษรสีทองผ่องอำไพ ดูสวยงามหรูหราขึ้น และในส่วนของกันชนหน้าและกระจังหน้านั้นได้ยกเอาของรุ่น SL ขับสองมาทั้งกะบิ เพราะดูดุดันกว่าของรุ่น SLX แต่ก็ยังจะแยกรายละเอียดเล็กๆ โดยการเปลี่ยนชิ้นชายล่างของกันชนหน้าให้เป็นช่องเล็กๆ จำนวน 8 ช่องแทน เพื่อป้องกันเจ้าสิ่งแปลกปลอมวิ่งเข้าไปกระแทกหม้อน้ำให้เสียหายยามลุยนั่นเอง และพร้อมกันนี้เพื่อความดุดันสวยงาม สไตล์ออฟโรดที่มีช่วงล่างที่สูงกว่าระดับขับสองอยู่แล้ว ได้ให้กระทะล้อขนาด 15 นิ้ว 6 ก้าน หน้ากว้าง 6 นิ้ว ที่ล้อมรัดไว้ด้วยยางแบบ 225/70 R 15C-6PR แบบ A/T พร้อมกับระบบล๊อคดุมล้อหน้าแบบกลไกอัตโนมัติ Auto Lock Hub ที่สร้างความสะดวกสบาย ให้กับผู้ใช้งานได้อย่างมาก ทำให้เป็นที่นิยมของผู้ที่ต้องการใช้รถสมบุกสมบัน แต่ก็ต้องการความสะดวกสบายเหมือนรถกะบะทั่วๆไป เพราะในยุคนั้น รถกะบะขับเคลื่อนสี่ล้อ จะนำเข้ามาจากต่างประเทศเสียส่วนใหญ่และมักจะเป็นระบบช่วงล่างแบบรองรับด้วยแหนบแผ่น ทั้งล้อหน้าและล้อหลัง แต่สำหรับเจ้า Rodeo คันนี้ จะยังคงให้ระบบช่วงล่างหน้าแบบทอร์ชั่นบาร์ ที่นุ่มนวลกว่า ทำให้เป็นเจ้าแห่งตลาดรถกะบะออฟโรดที่ไม่มีคู่แข่งแต่ประการใด จนกระทั่งในที่สุดค่ายคู่แข่งก็ต้อง นำเข้ามาจากต่างประเทศ เพื่อแย่งสัดส่วนการตลาด แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำตลาดได้ดีเท่ามากนัก (และรุ่นนี้ก็เป็นที่โปรดปรานของประเทศเพื่อนบ้านจนหายกันเป็นว่าเล่นเช่นกัน )
ส่วนรายละเอียดภายในนั้น ในเรื่องของที่นั่งยังคงให้ใช้เบาะหนังแบบไวนิลเช่นเดียวกับรุ่น SL เข้าใจว่าเพื่อความสะดวกเวลาใช้งานสมบุกสมบันแล้วเลอะฝุ่น โคลน ทราย จะได้ทำความสะอาดง่ายนั่นเอง พร้อมกับมี คันเกียร์มาให้สองอัน คือ เกียร์หลัก และเกียร์เลือกการขับเคลื่อน ระบบสี่ล้อ มาให้ ซึ่งในสมัยนั้นถึงแม้ว่าจะยังไม่มีระบบ การเข้าเกียร์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า เหมือนรุ่นหลังๆนี้ก็ตาม แต่ก็ถือว่า สะดวกสบายที่สุดเลยทีเดียว ในเรื่องของระบบขับเลี้ยวก็ได้ให้ระบบเพาเวอร์มาเรียบร้อยจะได้ไม่ต้องชักคะเย่อกับพวงมาลัยกันหน้าสั่น ตอนเข้าไปตลุยเส้นทางกันดาร ในมิติของตัวถังนั้น ความกว้าง และยาว จะคงเท่ากับรุ่น SL และ SLX แต่มีมิติความสูง ที่สูงกว่า 2 รุ่นดังกล่าว คือ สูงประมาณ 1,705 มม.
ครับเรามาถึงตัวสุดท้ายใน ตระกูลของรุ่นกันแล้ว คือ Isuzu Cameo หรือชื่อเต็มของรุ่นจริงๆของเค้าก็คือ Isuzu Cameo Wander Wagon ครับ รถแวน 5 ประตูยอดอเนกประสงค์ ซึ่งมาในปีนี้ หลังจากที่รุ่นก่อนๆ หน้านี้ได้นำเข้าชิ้นส่วนทั้งหมดมาให้โรงงานคู่บารมีประกอบให้แล้ว โรงงานประกอบรถยนต์ IAW ก็ได้สร้างเสร็จ จึงได้โอนย้ายฐานการประกอบให้ทาง IAW เป็นผู้ทำการประกอบรถรุ่นนี้ให้ (โรงงาน IAW เป็นโรงงานประกอบรถยนต์ที่ใหญ่มาก อีกโรงงานหนึ่ง และแม้แต่ค่ายอื่นๆ หรือค่ายคู่แข่ง ยังส่งรถให้กับโรงงานนี้ประกอบให้ หลายต่อหลายรุ่นมาแล้ว) โดยมาให้ปีนี้ เจ้า Isuzu Cameo รถยอดฮิตตลอดกาล ที่ปัจจุบันราคาตลาดมือสองยังคงได้ราคาดีพอสมควร ได้ทำการเปลี่ยนรูปโฉมโดยในส่วนของกระจังหน้าทั้งหมด ใช้ แชสซีส และกระจังหน้าของรุ่น SLX หรือรุ่นหน้าหนูมาประกอบให้ โดย ใช้กันชนชิ้นบน และกระจังหน้าสีเดียวกับตัวรถ และตัวกระจกมองข้าง ที่ในรุ่นก่อนหน้านี้เป็นสีดำ ก็มาให้เป็นสีเดียวกับตัวรถแล้ว ในด้านของเครื่องยนต์ก็วางเครื่อง 90 Hp มาให้เช่นกัน ในส่วนของห้องโดยสารต่างๆ ก็ยังคงให้เป็นเดิมๆ ซึ่งถือว่าสวยงามคลาสสิค ได้ดีอยู่แล้ว มาในงวดนี้อาจจะมองดูเหมือนว่าไม่ได้ทำอะไรมาก แต่ทาง Isuzu ก็ได้ลงแรงกับการประกอบรุ่นนี้พอสมควร โดยได้เพิ่มฉนวนกันความร้อนแบบ Insulator ที่นอกจากจะกันความร้อนแล้ว ยังเก็บเสียงภายนอกที่จะเข้ามารบกวนได้พอสมควร และยังคงความเป็นรถยอดปลอดภัยโดยมี ปุ่ม Lock พิเศษ ซ่อนอยู่ในขอบประตู เพื่อล๊อคป้องกัน เมื่อมีเด็กเล็กนั่งหลังแล้วซนไปเปิดประตูรถขณะรถกำลังเคลื่อนตัวอยู่ด้วย ซึ่งเจ้าปุ่ม Lock นี้ในสมัยนั้น รถระดับ Executive ที่นำเข้ามาขายในบ้านเรายังไม่มีให้กันเลย นอกจากนี้ได้ตกแต่งเบาะนั่งทั้งหน้า และหลังใหม่ด้วยลายผ้าโทนออกสีฟ้า ดูแล้วสวยงามเย็นตา มาให้ พร้อมบุแผงประตูด้วยลายผ้าสีเดียวกันดูงดงาม แต่กลับไม่ยักให้กระจกไฟฟ้ามาด้วยแฮะ ต้องสั่งเป็น ออฟชั่นเองต่างหาก มาพร้อมกับวิทยุติดรถยนต์ แบบเทป ดิจิตอล จากโรงงาน ฟูจิตสึ ที่ประกอบให้กับรถยนต์หลายๆค่าย ซึ่งซุ้มเสียงที่ให้มานั้น ถือว่าอยู่ในเกณฑ์พอฟังได้ทีเดียว
จุดเด่นของเจ้า cameo นี้ก็คือ ตรงชายล่างขอบประตูของตัวถัง จะมีดีไซน์ของพลาสติกยูเรเทน สำหรับรับแรงกระแทกประเภทกรวด ทราย ซึ่งเป็นจุดเด่นของรุ่นนี้เลยทีเดียว ( จำไว้น๊ะครับ สำหรับท่านที่ซื้อรถรุ่นนี้มือสอง ว่ากาบชายเชิงประตูตัวนี้หายไปหรือไม่ ) ส่วนล้อแม๊กซ์ที่ให้มาจะเป็นลายเดียวกับของรุ่นกะบะ SLX ที่เชื่อมั่นได้ถึงความแข็งแรงทนทาน และได้มาตรฐาน เพราะผลิตจากโรงงานเดียวกับผู้ผลิตแม๊กซ์ยี่ห้อดัง ENKEI เลยทีเดียวครับ สำหรับสีที่ให้มีให้เลือกหลากหลายสีเป็นเมทัลลิกซ์ ถึง 5 เฉดสี ให้เลือกกันครับ ในเรื่องของมิติตัวถังนั้น มีความยาวหัวจรดท้ายที่ 4,480 มม. จะสั้นกว่ารุ่นกะบะถึง 40 ซม. เลยทีเดียวให้ความรู้สึกเหมือนกับขับรถเก๋งอย่างไรอย่างนั้นเลยทีเดียว ส่วนมิติความกว้าง จะเท่ากับรุ่นอื่นๆ ที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ครับ
คราวนี้เรามาดู รายละเอียดคร่าวๆ หรือ Specification ของ รถยนต์ Isuzu New Faster Z 2500 Di กันดีกว่าครับ
-ในทุกรุ่นของรถโฉมนี้ ใช้เครื่องยนต์ รหัส 4JA-1 ระบบ OHV (Overhead Valve) จำนวน 4 สูบ วางตามยาว ใช้ระบบแม่ปั๊มเดี่ยวแบบ VE
-ความจุกระบอกสูบที่ 2,499 cc. ความกว้างของกระบอกสูบที่ 93 มม.
-ความยาวช่วงชัก ที่ 92 มม. อัตราส่วนกำลังอัด 18.4 : 1
-แรงม้าสูงสุด 90 แรงม้า ที่ 4,200 รอบต่อนาที
-แรงบิดสูงสุด 17.5 กก./นิวตันเมตร ที่ 2,000 รอบต่อนาที
-ระบบหล่อลื่น แบบ น้ำมันดันผ่านไส้กรองกระดาษ พร้อมระบบหล่อเย็น
-ระบบระบายความร้อนเครื่องยนต์ เป็นแบบแรงดันหม้อน้ำแบบท่อและครีบแนวตั้ง
ความจุถังน้ำมันเชื้อเพลิง
รุ่น Spark EX , SL , SLX ใช้ถังน้ำมันเชื้อเพลิงขนาด 75 ลิตร
รุ่น Cameo Wander Wagon ใช้ถังน้ำมันเชื้อเพลิงขนาด 50 ลิตร
รุ่น Thairung Station Wagon ใช้ถังน้ำมันเชื้อเพลิงขนาด 45 ลิตร
ระบบและอัตราทดเกียร์
- รุ่น Spark EX , SL , SLX , Cameo , Thairung ใช้เกียร์ธรรมดารหัส MSG5K โดยมีอัตราทดดังนี้
เกียร์ 1 (4.122) เกียร์ 2 (2.493) เกียร์ 3 (1.504) เกียร์ 4 (1.000) เกียร์ 5 (0.855) เกียร์ถอยหลัง ( 3.720 ) อัตราทดเฟืองท้าย 4.1 (41/10 )
- รุ่น SL , SLX , ใช้เกียร์ออโตเมติค รหัส AW03-72L แบบ 4 เกียร์เดินหน้า พร้อมโอเวอร์ไดรฟ์ โดยมีอัตราทดดังนี้
เกียร์ 1 (2.826) เกียร์2 (1.498) เกียร์ 3 (1.000) เกียร์4 (0.628) เกียร์ถอยหลัง (2,703) อัตราทดเฟืองท้าย 4.1 (41/10)
-รุ่น RODEO 4 WD ใช้เกียร์ธรรมดา พร้อมเกียร์ ขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ 2 ความเร็ว ( Hi-Low ) โดยมีรหัส MSG5K-T โดยมีอัตราทดดังนี้
เกียร์ 1 (4.122) เกียร์ 2 (2.493) เกียร์ 3 (1.504) เกียร์ 4 (1.000) เกียร์ 5 (0.855) เกียร์ถอยหลัง (3.720) พร้อมอัตราทด (ต่อ1) ในระบบช้า 1.870 ในระบบเร็ว 1.000 อัตราทดเฟืองท้าย 4.777 (43/9) พร้อม Limited Slip
สำหรับระบบกันสะเทือนนั้น
มีระบบกันสะเทือนหน้าแบบอิสระ ทอร์ชั่นบาร์ และเหล็กกันโคลง พร้อมโช๊คอัพฯน้ำมัน 2 จังหวะ ในทุกๆ รุ่น
ระบบกันสะเทือนหลังเป็นแบบ แหนบแผ่นรูปครึ่งวงรี พร้อมโช๊คอัพฯน้ำมัน 2 จังหวะในทุกๆรุ่น
ระบบขับเคลื่อน
ในรุ่น Spark EX , SL , SLX นั้น ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหลังอย่างเดียวแบบ แบนโจ กึ่งเพลาลอย เฟืองท้ายแบบไฮปอยด์
ในรุ่น RODEO 4WD ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้าแบบเพลาลอย ล๊อคล้อหน้าอัตโนมัติ ส่วนล้อหลังใช้แบบ แบนโจ กึ่งเพลาลอย เฟืองท้ายแบบไฮปอยด์ พร้อม Limited Slip
ระบบเบรค
ในทุกๆรุ่น ใช้เบรกหน้าแบบไฮดรอลิค 2 วงจร พร้อมจานดิสค์เบรค มีครีบระบายความร้อน และหม้อลมช่วย
ในทุกๆรุ่น ใช้เบรกหลังแบบ กระทะ ดรัมเบรค ลีดดิ้ง/เทรลลิ่ง พร้อมระบบปรับระยะผ้าเบรกอัตโนมัติ
ในทุกๆรุ่น ใช้เบรกมือแบบกลไก บังคับเบรกที่ล้อหลัง
ผู้สนับสนุนข้อมูล
คุณ Cin
คุณ Strada
นิตยสาร นักเลงรถกะบะ
นิตรสาร แหล่งรถ
ผู้เรียบเรียง
คุณ ถุงทอง