loei_talk   ถ้าผมซื้อตำแหน่ง...ขอให้มีอันเป็นไป...ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข

 
  แม้รัฐบาลเพื่อไทยเดินหน้าปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) แล้วถึง 3 ครั้ง นับตั้งแต่เข้าบริหารงานประเทศ แต่ ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข อดีต สส.เลย9 สมัย ยังยึดเก้าอี้เจ้ากระทรวง "ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" อย่างเหนียวแน่น

ท่ามกลางข่าวลือหนาหูว่าปรับ ครม.ปู 3 ที่ผ่านมาชื่อของเขาเกือบหลุดโผในวินาทีสุดท้ายเพราะ"วิสาร เตชะธีราวัฒน์" อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ที่มีแบ็กชั้นดีอย่าง ยงยุทธ ติยะไพรัชอดีตเจ้ากระทรวงทรัพย์ฯ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรไว้ใจคนหนึ่ง ส่งชื่อลงสนามแต่ท้ายที่สุดแล้ว"ปรีชา" ยังหนึบยึดตำแหน่งรัฐมนตรีที่นั่งเดิม ชนิดหักปากกาเซียน

ปรีชา ซึ่งได้เก็บตัวไม่ขอพูดถึงเรื่องนี้มานานได้เปิดใจกับ "โพสต์ทูเดย์" ว่าความจริงไม่ได้มีปัญหากับใคร และการแต่งตั้ง ครม.ว่า ใครสมควรอยู่ในตำแหน่งใดนั้นเป็นอำนาจของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรี ที่จะเป็นผู้พิจารณาว่าผลการดำเนินงานของแต่ละกระทรวงเป็นอย่างไร ดังนั้นสำคัญที่ว่าเมื่อเข้ามาแล้วต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดนายกฯ จะเป็นผู้ประเมินและปรับที่นั่งให้เหมาะสมเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ว่าใครคนใดคนหนึ่งจะมีอำนาจในการปรับ ครม.!

"ต้อง ยอมรับว่าการบริหารงานทุกกระทรวงมันไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวรทางการเมือง ในส่วนนี้ก็มองได้ว่าทุกกระทรวงย่อมมีการปล่อยข่าว เพราะตำแหน่งมันมีน้อย แต่คนมันมีมาก ทุกคนก็อยากจะเป็นรัฐมนตรี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับการทำงานเป็นเครื่องพิสูจน์

...คือ ในการทำงาน เรื่องจุดแข็งไม่มีใครเป็นจุดแข็งหรอก แต่เราต้องยึดถือความถูกต้อง ต้องยึดถือนโยบายที่เราได้รับมอบหมายจากรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาที่เกี่ยวข้องกับแต่ละกระทรวง เราก็ต้องเอาภารกิจนี้ไปมอบให้กับผู้บริหาร และต้องมีความเชื่อมั่นว่าการทำงานในกระทรวงใดก็ตาม ถ้ารัฐมนตรีใดปล่อยปละละเลย ทำงานบกพร่อง มันก็ไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศ วันนี้เราทำงานที่อยู่ในตำแหน่งนี้ ก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด"

เกิดกระแสข่าวว่ามีการนำเงินมอบให้แกนนำพรรคเพื่อแลกตำแหน่ง?

รัฐมนตรี แย้งทันควัน "ผมขอยืนยันว่าไม่มี!"พลางบอกด้วยว่า "ผมเป็น สส.มาหลายสมัย อยู่พรรคการเมืองมาหลายพรรค ทั้งกิจสังคม เสรีธรรม และพรรคไทยรักไทย ล้วนมีเกณฑ์กรรมการบริหารพรรคในการพิจารณา การซื้อขายตำแหน่งในแวดวงการเมืองสมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน ต้องยอมรับว่าสมัยก่อนขึ้นอยู่กับระบบกลุ่มทุน คนไหนที่จะเป็นรัฐมนตรีต้องเอาเงินมาซื้อตำแหน่ง ต้องเอาเงินให้พรรค แต่ขอเรียนว่าตั้งแต่ผมดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย สมัยท่านสมชายวงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้เสียเงินแม้แต่บาทเดียว"

ลือถึง ขั้นตัวเลขเงิน 300 ล้านบาท?   เจ้าตัวแย้งอีกว่า "ผมยึดหลักการทำงานว่าต้องมีความจริงใจที่จะทำงานให้ดีที่สุด นำนโยบายที่ทางรัฐบาลมอบหมายและนโยบายของกระทรวง

ลงสู่พี่ น้องประชาชน ขอย้ำว่ามาถึงจุดนี้ไม่เคยต้องเสียเงิน ถ้าผมมีการซื้อขายตำแหน่งแม้แต่บาทเดียวในการที่จะมาดำรงตำแหน่งขอให้ผมมี อันเป็นไปเลย" รมต.ปรีชา กล่าวยืนยันหนักแน่น

แม้รอดหวุด หวิดทุกครั้งที่ "ยิ่งลักษณ์" มีการขยับเก้าอี้รัฐมนตรี แต่ใช่ว่าการบริหารงานในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะราบรื่น เพราะเป็นกระทรวงที่ ยงยุทธ ติยะไพรัชเคยนั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการคุมกระทรวงนี้ กลุ่มก๊กก๊วนข้าราชการประจำของยงยุทธจึงยังแน่นปึ้กก่อให้เกิดกระแสข่าวมี คลื่นใต้น้ำคอยกัดเซาะขาเก้าอี้รัฐมนตรีคนปัจจุบัน จนเป็นที่มาของการโยกย้ายล้างบางขั้วอำนาจเก่าที่หลงเหลือในกระทรวง

ปรีชา แจงประเด็นนี้ตรงไปตรงมาว่า "ไม่มี ไม่มี ผมอยู่ตรงนี้ต้องรับมอบนโยบายจากท่านนายกฯ ที่ได้มอบภารกิจไว้อย่างชัดเจน เจ้ากระทรวงต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่จะมีคนโน้นคนนี้มาอยู่บงการ ที่มีข่าวออกมาตลอดเวลาว่าในกระทรวงขัดแย้งกัน ก็ไม่มีหรอก เพราะเขาเอง(ยงยุทธ) ไม่ได้มีส่วนอยู่ในกระทรวง ไม่มีส่วนที่เกี่ยวข้องในกระทรวงแล้ว"

"การทำงาน ในกระทรวงทรัพย์ฯ ไม่มีการขัดแย้งในการบริหารงาน เพราะผมไม่เคยเข้าไปก้าวก่ายในส่วนของการโยกย้ายข้าราชการ ปล่อยให้เป็นอำนาจของอธิบดีและปลัดกระทรวง ผมมีหน้าที่เพียงกำกับดูแล และให้นโยบายเท่านั้น ส่วนอธิบดีที่ได้แต่งตั้ง โยกย้ายเสร็จ แต่ผลการทำงานไม่เป็นไปตามนโยบาย ก็ถือว่าอธิบดีก็ต้องรับผิดชอบ จากนี้ต่อไปจะให้รองปลัดกระทรวงลงไปตรวจสอบการทำงานของแต่ละกรม เสร็จแล้วก็ต้องไปดูการทำงานของอธิบดีแต่ละกรม แล้วรายงานมาเป็นเรื่องลับโดยมองจากข้างล่างมาถึงข้างบนว่าเกณฑ์การทำงานของ อธิบดีแต่ละกรมผ่านเกณฑ์ประเมินไหม ให้ทำรายงานมาทุกเดือน"


สำหรับ กรณีที่มีข้าราชการกระทรวงร้องเรียนเรื่องถูกย้ายไม่เป็นธรรมนั้นปรีชา ย้ำว่า อธิบดีเองได้รายงานมาว่า การโยกย้ายก็เพื่อความเหมาะสมเพราะการย้ายหัวหน้าของแต่ละสำนักนั้นต้อง คำนึงถึงความรู้ ความสามารถในการทำงานการคิดล้างบางตรงนั้นไม่ใช่เป็นเหตุผลแน่นอน ขอย้ำว่าเราต้องให้ความเป็นธรรมกับคนที่ทำงาน ไม่ใช่ว่าคนที่ไม่ทำงานแล้วกลับได้ดี แต่บางคนไม่ได้ทำงานเลยกลับแต่มีการวิ่งเต้นตำแหน่ง ดังนั้นก็ได้มีการมอบนโยบายกันว่าให้ทางอธิบดี รองอธิบดี ได้พิจารณาให้ความเป็นธรรมกับบุคคลเหล่านี้

ขณะเดียวกัน "ลูกหม้อยงยุทธ" อย่าง ดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่เคยสร้างผลงานสะท้านป่าเดินหน้ากวาดล้างรีสอร์ตทับที่ดินอุทยานแห่งชาติ ทับลานก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ ได้หวนกลับมาตั้งพรรค "ทวงคืนผืนป่าประเทศไทย" เหมือนเป็นการตรวจสอบการทำงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น

กรณี นี้ ปรีชา ให้ความเห็นว่า ทุกคนก็มีสิทธิไปตั้งพรรค การชูนโยบายทวงคืนผืนป่าจะเป็นจุดในการหาเสียงให้พรรคตัวเอง ถือเป็นเรื่องดีที่ทุกภาคส่วนร่วมกันตรวจสอบทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ

"แต่ ยืนยันว่าทางกระทรวงเองไม่ได้นิ่งเฉย ไม่เคยปล่อยปละละเลยเรื่องการตรวจสอบการบุกรุกป่า เพราะตอนอดีตอธิบดีคนนี้ทำงานก็อยู่ภายใต้นโยบายผม ต่อจากนี้ก็เดินเครื่องต่อโดยต้องมีมาตรการเข้มขึ้นในการที่จะลงไปตรวจสอบ ทุกกรม ทั้งกรมป่าไม้กรมอุทยานฯ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ก็ได้มีการมอบหมายให้ทางปลัดกระทรวงดูแลจัดการ หลังจากนั้นต้องมีการดับเบิลเช็กโดยให้ผู้ตรวจของกระทรวงจะเดินคู่กับรอง ปลัดกระทรวงในการลงไปตรวจว่ารายงานมาข้อเท็จจริงมันตรงกันไหม ถ้ารายงานมาไม่ตรงกันก็ต้องรับผิดชอบ"

"สมัยนี้ต้องเข้ม งวด เดิมทีถ้ามองย้อนไปเมื่ออดีตที่ผ่านมา20-30 ปีก่อน ทั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เขามองว่าเป็นระบบมาเฟีย เพราะมีอิทธิพลพอสมควรในการที่จะชี้เป็นชี้ตายในป่าแต่ละแปลง แถมยังมีการซื้อขายตำแหน่ง เมื่อซื้อขายตำแหน่งเพื่อไปอยู่ในหน่วยงานนั้นเขาก็ไม่เอาจริงเอาจัง ไม่มีความจริงใจที่จะทำงาน เพราะจะต้องหาผลประโยชน์คืน

..แต่ ยุคนี้มาเฟียไม่มีอีกแล้ว เราได้เรียนรู้ข้อบกพร่องมาตั้งแต่ 20-30 ปีก่อน ต่อไปนี้เราก็ต้องมีมาตรการเข้มงวดในการลงพื้นที่ไปตรวจสอบ ไม่เช่นนั้นการที่เราเองมีมาตรการไม่ค่อยเข้มข้น ไม่ค่อยเด็ดขาด จะเกิดการหาประโยชน์ให้ผู้อื่นมาแผ้วถางบุกรุกป่า ดังนั้นใครรับผิดชอบอยู่ตรงไหน หากปล่อยให้มีการซื้อขายตำแหน่ง ก็ถือว่าละเว้น ก็ต้องถือว่าผิดและได้รับโทษตามมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยเคร่งครัด" รมว.ทรัพยากรฯกล่าวเน้นย้ำ n

ลุยปลูกป่าการันตีไร้ทุจริต

alt

เป็นหนึ่ง ในกระทรวงที่รับงบประมาณมหาศาลจากรัฐบาลที่ออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวง การคลังกู้เงิน เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ (พ.ร.ก.กู้เงิน) 3.5 แสนล้านบาท โดยภารกิจหลักของกระทรวงทรัพยากรฯ หนีไม่พ้นการปลูกป่าในพื้นที่ต้นน้ำเพื่อวางมาตรการป้องกันอุทกภัยในอนาคต

ด้วย จำนวนเม็ดเงินในโครงการและขอบข่ายงานที่กว้างขวางกินพื้นที่หลายจังหวัดของ ประเทศ จึงนำมาสู่คำถามว่าจะมีการตรวจสอบอย่างไรไม่ให้มีการทุจริตเกิดขึ้น

ปรีชา ชี้แจงละเอียดยิบ ว่า ข้อกังวลที่ว่าจะตรวจสอบว่ามีการปลูกจริงหรือไม่ ตรวจสอบอย่างไรนั้นต้องแจ้งว่าทุกโครงการภายใต้กระทรวงทรัพยากรฯ ต้องมีกระบวนการที่เข้าไปตรวจสอบได้โดยเน้นให้ทุกโครงการจะต้องทำเทมเพลต (แผนที่แม่แบบ) ทั้งก่อนดำเนินการปลูก ระหว่างการดำเนินการปลูก และหลังดำเนินการแล้วเสร็จ ทุกโครงการจะต้องมีการทำพิกัดชัดเจน สามารถตรวจสอบได้

"เช่น การเพาะกล้าปลูก ก็ต้องมีพิกัดการปลูกกล้าจุดไหน ชนิดไหน ใช้งบประมาณเท่าไร อย่างปีที่ผ่านมามีการปลูก 140 ล้านกล้าของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ต้นหนึ่งประมาณ 2.79 บาท หญ้าแฝกประมาณ 1.76 บาทต่อต้น เราก็ทำเทมเพลตเปรียบเทียบทั้งก่อนปลูกกำลังปลูก และหลังปลูก แล้วรายงานตรงมายังศูนย์ของกรมที่รับผิดชอบ กรมก็รายงานมายังรองปลัดกระทรวงให้ตรวจสอบ และรองปลัดฯ ก็สามารถที่จะมอบให้กับผู้ตรวจฯ ลงไปตรวจสอบ

...จากนั้นก็ มีการดับเบิลเช็กโดยรองปลัดกระทรวงเพื่อสร้างความมั่นใจว่าให้เจ้าหน้าที่มี ความเข้มงวดในการทำงานตามนโยบาย ณทุกโครงการทุกจุดที่เราวางไว้ทั้งหมด เจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่เราวางไว้ในทุกหน่วยงาน หากมีการปล่อยปละละเลยหรือละเว้นการปฏิบัติ เราก็จะใช้มาตรา 157 ดำเนินการทันทีต้องทำให้เกิดความเข้มงวด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด"รมว.ทรัพยากรฯ ระบุอีกว่านอกจากใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว กระทรวงทรัพยากรฯยังมีการบูรณาการขอกำลังเจ้าหน้าที่ร่วมกับหน่วยงานกระทรวง อื่นโดยการทำบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู) กับ 4 หน่วยงาน ได้แก่1.กระทรวงมหาดไทย จะมีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ตลอดจน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเข้าไปดูแลร่วมกัน 2.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเกษตรตำบลและเกษตรอำเภอเป็นกำลังหลัก 3.กระทรวงกลาโหม มีกองทัพที่มีกำลังทหารมาดูแลในพื้นที่ที่เป็นรอยตะเข็บเขตแดน และ 4.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่สามารถประสานเจ้าหน้าที่ได้ทันทีหากพบว่ามีผู้เข้าไปบุกรุกทำลายป่า

"สมัย ก่อนเมื่อมีโครงการปลูกป่า ไม่ค่อยมีการดูแล เอาใจใส่ตรวจสอบ และติดตามประเมินผลเท่าที่ควร บางทีปลูกเสร็จก็อ้างภัยธรรมชาติบ้าง ไฟป่ามาเผาบ้าง มีพี่น้องชาวบ้านบุกรุกทำลายบ้าง แต่ครั้งนี้กระทรวงต้องเอาจริง เรามีทั้งกำลังเครื่องมือและกำลังคน"รัฐมนตรีผู้นี้ย้ำด้วยว่า นอกจากโครงการปลูกป่าที่ต้องทุ่มเทสรรพกำลังแล้ว การบุกรุกพื้นที่ป่าก็ต้องลุยไม่แพ้กัน เพราะสถานการณ์ป่าไม้ขณะนี้ในพื้นที่ประเทศไทยเหลืออยู่ 108 ล้านไร่ คิดเป็น 33% เท่านั้น ซึ่งนับเป็นปัญหาสำคัญ จึงได้ประสานงานร่วมกับกรมแผนที่ทหาร เพื่อใช้"ภาพถ่าย 5 ชั้นปี"เข้ามากู้วิกฤต

ปรีชา อธิบายถึงภาพถ่าย 5 ชั้นปี ว่า เป็นภาพถ่ายทางอากาศที่ถ่ายพื้นที่ในประเทศในช่วงรอบระยะเวลา 5 ครั้ง ที่จะตรวจสอบได้เลยว่าผืนป่าสมัยก่อนเป็นอย่างไร มีผู้คนเคยอยู่กิน เคยครอบครอง หรือเคยบุกรุกพื้นที่ในสมัยใด โดยภาพถ่ายครั้งแรกอยู่ในปี 2495 ครั้งที่ 2 ปี 2506 ครั้งที่ 3 ปี 2515 ครั้งที่4 2525 ครั้งที่ 5 2537 ทั้งนี้ จะใช้ภาพถ่ายของกรมพัฒนาที่ดินกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จัดทำในปี 2545 โดยเป็นภาพสีที่ใช้มาตราส่วน 1 ต่อ 4,000 ครอบคลุมมาตราส่วนทั้งประเทศ นำมาทาบกันก็จะสามารถได้ข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น

"ขณะนี้อยู่ ระหว่างการดำเนินการเสร็จไปแล้ว 80% เหลืออีกเพียง 20% ถ้าโครงการนี้เสร็จปั๊บเราก็จะทราบเลยว่าพื้นที่ในประเทศไทยทั้งหมดจะเป็น พื้นที่ของใคร แต่ละพื้นที่ป่าเป็นป่าเสื่อมโทรมเท่าไร มีใครครอบครองเท่าไรรู้หมด เชื่อว่าหากมีมาตรการที่เข้มงวดบนฐานข้อมูลที่แน่ชัด ต่อไปจำนวนผืนป่าของประเทศก็ต้องเพิ่มขึ้น"n

ยุบรวม 2 กรม ! สมัยผมแน่

alt

พูดคุยหารือกันมานานถึงการยุบรวม 2 กรมบิ๊กแห่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้

ปรีชา ยืนยันความคืบหน้าว่า ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของกรรมาธิการร่วมของสภาหลังจาก ครม. เห็นด้วยในหลักการและเป็นผู้เสนอ ทั้งนี้ กรรมาธิการได้พิจารณาถึงกฎระเบียบ รวมถึงการวางกรอบตำแหน่งข้าราชการ หากมีการยุบรวมระหว่าง2 กรม เมื่อเสร็จสิ้นจะนำสู่การพิจารณาวาระที่ 2-3 ของสภาผู้แทนราษฎร

"เดิมทีกรมป่าไม้ในปี 2545 ยังอยู่ที่กระทรวงเกษตรฯ ส่วนกรมอุทยานฯ อยู่ในกระทรวงทรัพยากรฯ แต่หลังจากนั้นมันไม่เวิร์ก จึงย้ายกรมป่าไม้จากกระทรวงเกษตรฯมาอยู่ที่กระทรวงทรัพยากรฯ ตั้งแต่ปี 2547 แต่เมื่ออยู่ในพื้นที่กระทรวงเดียวกันผลปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ทำงานซ้ำซ้อนกัน ข้อกฎหมายที่เจ้าหน้าที่บังคับใช้เกิดปัญหา อีกทั้งส่วนราชการที่ไปติดต่อประสานงานนั้นไม่ค่อยได้รับความสะดวก จึงให้มีการยุบรวม" ปรีชา ย้อนถึงสาเหตุที่ต้องควบรวม 2 กรม

เมื่อถามว่าจะได้เห็นการยุบรวม2 กรมนี้เมื่อไหร่รมว.ทรัพยากรฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า "ไม่ต้องห่วง รวมได้ในสมัยผมเป็น รมต.แน่นอน" n

การ ทำงานในกระทรวงทรัพย์ฯไม่มีการขัดแย้งในการบริหารงาน เพราะผมไม่เคยเข้าไปก้าวก่ายในส่วนของการโยกย้ายข้าราชการปล่อยให้เป็นอำนาจ ของอธิบดีและปลัดกระทรวงผมมีหน้าที่เพียงกำกับดูแล และให้นโยบายเท่านั้น ส่วนอธิบดีที่ได้แต่งตั้ง โยกย้ายเสร็จแต่ผลการทำงานไม่เป็นไปตามนโยบาย ก็ถือว่าอธิบดีก็ต้องรับผิดชอบ

 

โดย..ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ที่มา:
http://www.posttoday.com/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B9%8C/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A9/199783/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A9-%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%9F%E0%B8%B5%E0%B8%A2

 

 

Go to top