เมื่อวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมา ผมได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่บ้านแฮ่ และบ่ายวันอาทิตย์นั้น ผมก็ได้เดินสำรวจพืช/ต้นไม้ ที่ปลูกในบริเวณรอบๆบ้านของที่ดินประมาณ 1 ไร่นั้น ไม่น่าเชื่อว่า มีพืชที่เป็นพืชพื้นเมืองที่ผมได้กินอยู่บ่อยๆ แต่ไม่ค่อยพบในเมืองหลวงกว่า 30 ชนิด
อัญชัน :
ต้น (เครือ) และดอกที่แสดงในรูป ปลูกไว้หน้าบ้านโดยทำโครงเสา (ภาษาบ้านผมเรียกค้าง) ให้มันเลื้อยไป ซึ่งปลูกไว้รวมกับถั่วพลู มันก็เลื้อยพันกันไป เราทราบกันดีว่านำดอกมาทำเป็นสีทำอาหาร (สีฟ้า) แต่ที่บ้านผมนำดอกสดๆ มากินกับน้ำพริก ป่น (ป่น คือ น้ำพริกที่ทำจากแหล่งโปรตีนชนิดต่างๆ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา กบ เนื้อ หมู ไก่ เป็นต้น) รสชาดก็มันๆ ดีครับไม่ขมเลย
ผักกูด :
ต้นนี้ปลูกทิ้งไว้ที่ข้างบ้าน หลายท่านคงรู้จักดีว่ากินได้ทั้งแบบสดๆ หรือทำให้สุกก็ได้ ไม่ว่าจะทำเป็นผักแนมของน้ำพริก /ลาบ ทำยำ ผัด ต้ม เป็นต้น
ชำมะเลียง :
ที่บ้านเหลืออยู่ 2 ต้น เพิ่งออกดอก ภาษาบ้านผมเรียก “บักหวด” ต้นนี้ กินได้ทั้งยอดอ่อนและผลของมัน ยอดอ่อนจะ
ทำเป็นผักแนมของน้ำพริก /ลาบ ส่วนผลเมื่อสุกแล้วจะมีลักษณะคล้ายรูปหัวใจสีม่วงแก่ รสชาดหวานอมฝาดเล็กน้อย
ชะพลู :
น่าจะเป็นผักที่หาได้ทั่วไป แต่จุดเด่นของภาพนี้คือดอกของมัน จะเห็นว่ามีลักษณะคล้ายดอกของดีปลี แต่น่าเสียดายที่บ้านไม่ได้ปลูกดีปลี
ท้อไข่ :
ผลไม้ชนิดนี้ผมไม่เคยเห็นแม่ค้าในเมืองหลวงนำมาขายเลยแต่ที่เมืองเลยหาได้ง่าย ลักษณะของมันคล้ายๆกับลูกพูดแต่ลูกพูดจะมีรสออกเปรี้ยวหวานปนขมเล็กน้อย ผลสุกของลูกท้อไข่นี้ มันจะมีเนื้อข้างในร่วนอ่อนนุ่มเหมือนกำมะหยี่ รสชาดหวานหอม ถ้ายังแก่ไม่เต็มที่จะมีรสฝาด
ใบหัวเสือ :
ผมไม่แน่ใจว่าภาษาภาคกลางเรียกว่าอะไร รสและกลิ่นของผักชนิดนี้ดับคาวได้ดี จึงนิยมกินเป็นผักสดกับน้ำพริก ป่น /ลาบ แต่สิ่งที่ผมแปลกใจก็คือมันมีกลิ่นเหมือนกับออริกาโน ที่ใส่พิซซ่ามาก ไม่แน่ใจว่าเป็นพืชชนิดเดียวกันหรือไม่
จิงจูฉ่าย :
เคยได้ยินคนเรียกว่า . “ผักกาดนา” แต่ถามท่านผู้รู้ซึ่งมีเชื้อสายจีนท่านบอกว่าเป็นผักจิงจู ผักชนิดนี้จะนำมาใส่เกาเหลาเลือดหมู ซึ่งในเมืองหลวงผมยังไม่เคยเห็นร้านไหนทำเลย แต่ที่เมืองเลยมีร้านเกาเหลาเลือดหมูที่ขึ้นชื่อมากใช้ผักชนิดนี้ คือร้านชื่อร้านชื่อ “มะกัน” เปิดขายตั้งแต่ ตี 5 ถึง 10 โมงเช้า อยู่ในซอยหลังโรงภาพยนต์อัมรินทร์
ผักเม็ก :
เป็นผักพื้นเมืองที่ค่อนข้างหาได้ง่าย ในเมืองหลวงก็พอมีให้เห็นบ้าง รสชาดมัน มีขมเปรี้ยวแซมนิดๆ
น้ำน้อย :
ผมไม่แน่ใจว่าภาษาทางภาคกลางเรียกว่าอะไร พืชชนิดนี้มีประโยชน์มากสำหรับคุณแม่ผู้ให้นมบุตร ซึ่งเราจะนำกิ่งลำต้นของมันไปต้มแล้วนำมาให้ณแม่ผู้ให้นมบุตรดื่มเพื่อเร่งน้ำนมให้ออกมามากๆ ส่วนผลของมันที่เห็นในรูปก็กินได้ แต่ละลูกมีขนาดประมาณเท่ากับลูกมะแว้ง (ประมาณ 1 เซนติเมตร) มีรสชาดหวานอมฝาด
ชะมวง :
อันนี้เป็นพืชพื้นเมืองทางภาคตะวันออก ที่บ้านได้นำมาปลูกไว้ได้ 5-6 ปีแล้ว อาหารที่คุ้นหูคือแกงหมูใส่ใบชะมวง แต่ที่บ้านจะกินทั้งยอดแบบสดกับน้ำพริก กับลาบ และนำมาใส่ต้มยำ ไม่ว่าจะเป็นต้มปลา ต้มไก่ หรือต้มยำทะเล
ชงโค :
ภาษาที่เมืองเลยเรียก “ผักเสี้ยว” นิยมนำยอดอ่อนมานึ่งกินกับน้ำพริก ป่น หรือนำมาแกงใส่ตะไคร้ กับปลาแห้ง หรือกุ้งหอย ปู ปลา แหล่งโปรตีนอื่นๆที่หาได้ (คล้ายแกงเลียง)
ส้มป่อย :
ภาษาที่เมืองเลยเรียก “ส้มปอน” ลักษณะคล้ายกับชะอม แต่มีรสเปรี้ยว นิยมนำยอดอ่อนมาใส่ต้มยำไม่ว่าจะเป็นต้มปลา ต้มไก่ หรือต้มยำทะเล โดยเฉพาะต้มยำไก่ ส่วนใหญ่คนจะคุ้นเคยกับใบมะขามอ่อน แต่ที่บ้านผมจะนิยมใส่ “ส้มปอน” มากกว่า เนื่องจากใบมะขามอ่อนจะมีรสเปรียวกลมออกฝาด แต่ “ส้มปอน” จะออกเปรี้ยวแหลม
ตาว :
เป็นพืชตระกูลปาล์ม ปกติเราจะคุ้นเคยกับการกินลูกตาวเชื่อมที่มีลักษณะคล้ายกับลูกชิด แต่ที่บ้านผมนิยมนำยอดมาแกง ในลักษณะของต้มเปอะ (ใส่น้ำย่านางคั้น) รสชาดเหมือนแกงหน่อไม้อาจจะมีรสขมปนนิดๆ
มะอึก :
จากที่เห็นในรูปเป็นลูกที่ยังไม่แก่ ลูกที่แก่แล้วจะมีสีเหลือง เวลาจะนำมากินก็จะขูดขนอออกให้หมดจนเลี่ยนเตียน นำใส่ใส่น้ำพริกกะปิ สัมตำ ยำต่างๆ เป็นต้น มีคนเอามะอึกไปเปรียบกับคนหัวล้าน ผมเข้าใจว่าเนื่องจากขนรอบผลของมันเมื่อแก่แล้วจะหลุดร่วงเป็นกระจุกคล้ายคนหัวล้าน
บักหลอด :
ผลไม้ชนิดนี้ผมเคยเห็นบ้างที่ภาคเหนือ แต่ภาคอีสานตอนล่าง หรือภาคอื่นๆ ยังไม่เคยเห็น จึงไม่รู้ว่าภาษาภาคกลางเรียกว่าอะไร ผมเคยเห็นผลไม้นี้ขึ้นห้างเป็นผลไม้นำเข้าราคาแพง ใช้ชื่อว่า “มะปรางญี่ปุ่น” จากภาพนี้ผมถ่ายมาได้เฉพาะต้นของมันเพราะยังไม่ถึงหน้าฤดูของมัน ลักษณะของต้นจะเป็นลักษณะเถาคล้ายเถาวัลย์ หรือต้นไทร ผลเมื่อสุกแล้วจะมีลักษณะรูปร่างและสี คล้ายกับมะเขือเทศราชินี รสชาดของมันจะมีทั้งแบบเปรี้ยวจัด และแบบเปรี้ยวอมหวาน ขึ้นอยู่กับพันธุ์ วิธีการกินที่ผมชอบก็คือ ฝานเอาแต่เนื้อแล้วนำมาแช่น้ำปลาที่คนกับน้ำตาลให้กลมกล่อม ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 ชั่วโมงก็จะได้ บักหลอดแช่น้ำปลา 3 รส รสชาดจิ๊ดจ๊าดน้ำลายสอ
มันหำอี้มู้ :
ชื่ออาจจะดูว่าไม่สุภาพ แต่ชื่อนี้เป็นชื่อที่เรียกกันตามปกติของบ้านผม และไม่ทราบว่าที่ภาคกลางเรียกว่าอะไร จากลักษณะของมัน เป็นมันที่ออกมาจากเครือเถา ลูกไม่ใหญ่มาก ผิวเป็นขรุขระเป็นตะปุ่มตะปั่ม มีขนาดไม่เกิน5 เซนติเมตร คล้ายๆ กับมันลูกเห็บแต่มันลูกเห็บผิวจะเรียบกว่า
เพี้ยฟาน :
ชื่อของมันผมเข้าใจว่าน่าจะมาจากกลิ่นและรสชาดที่คล้ายกับน้ำย่อยหญ้าอ่อนในไส้ของเก้ง (เพี้ย = ขี้อ่อนในไส้ของสัตว์กินพืช เช่น ช้าง ม้า วัว ความ เก้ง กวาง , ฟาน = เก้ง) พืชชนิดนี้นิยมนำยอดอ่อนมากินกับลาบ/น้ำพริก ป่น
กะเพราแดง :
จากการเดินตลาดในเมืองหลวง พบว่าไม่ค่อยมีกะเพราแดงขาย ส่วนตัวผมเองชอบที่จะกินกะเพราแดงมากกว่าเพราะมีกลิ่นหอมกว่า
ผักคาว :
ผักชนิดมีกลิ่นและรสคาวเหมือนคาวปลา เพียงแค่จับกลิ่นคาวก็ติดมือแล้ว นิยมนำมากินกับลาบ/น้ำพริก ป่น
กระเจี๊ยบขาว :
ลักษณะคล้ายกับกระเจี๊ยบเขียวที่พบได้ทั่วไปในตลาดเมืองหลวง ภาษาที่เมืองเลยเรียกว่า “บักหม่นเหล่น” นิยมนำมานึ่งกินกับน้ำพริก ป่น
ดาหลา :
พืชตระกูลข่า มีดอกสีแดงสดดังรูป ตอนแรกปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับ แต่ตอนหลังพบว่า หน่ออ่อนของมันก็กินได้ โดยนำมาแกงแบบต่างๆได้ และดอกของมันก็ใช้กินสดกับนำพริก ป่น ลาบ โดยเลือกใช้ดอกแก่ รสชาดอมเปรี้ยวเล็กน้อย
ย่านาง :
พืชชนิดนี้น่าจะรู้จักกันดี ลักษณะต้นเป็นเถา ส่วนใหญ่จะนำใบมาคั้นกับน้ำเป็นน้ำสีเขียว เพื่อใส่ในต้มเปอะ เชื่อว่าน้ำย่านางจะไปลดความขื่น และสารกัดกร่อนในหน่อไม้ได้
ส้มกุ้ง :
ใบเป็นยาง รสชาดเปรี้ยว มีกลิ่นคล้ายกุ้งสด นิยมนำมากินกับลาบ/น้ำพริก ป่น
ส้มกบ :
ใบนำมาทำเป็นใบเมี่ยงห่อ
มะตูมแขก :
ใบมีกลิ่นหอม รสมัน นิยมนำมายอดกินกับลาบ/น้ำพริก ป่น
ผักขี้นาก :
ไม่ทราบว่าภาคกลางเรียกว่าอะไร นิยมนำมานึ่งกินกับน้ำพริก ป่น หรือนำมาทำแกงอ่อมก็ได้
ผักอ่อมแซบ :
ไม่ทราบว่าภาคกลางเรียกว่าอะไร ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ผักอ่อมแซบ คือถ้านำมาทำแกงอ่อม ก็ต้องอร่อยจริงๆ นิยมนำมาทำแกงอ่อม หรือ นำมานึ่งกินกับน้ำพริก ป่น ก็ได้
ผักส้าง :
ไม่ทราบว่าภาคกลางเรียกว่าอะไร เป็นไม้ยืนต้น นิยมนำยอดใบอ่อนมานึ่งกินกับน้ำพริก ป่น รสชาดออกขม
ขอขอบคุณ นาย อรรถวุฒิ ชัชวาลย์