เจ้าหนี้-ลูกหนี้ ควรรู้ไว้ ทวงหนี้อย่างไรไม่ผิดกฎหมาย ลูกหนี้ร้องเรียนได้หากพบถูกปฏิบัติไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ 2558
เปิดข้อกฎหมายน่ารู้ สรุปสาระสำคัญใน พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2558 กับรายละเอียดที่เจ้าหนี้-ลูกหนี้ควรทราบ ทวงหนี้อย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมาย ทวงหนี้แบบใดเข้าข่ายคุกคามหรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของลูกหนี้ และลูกหนี้ควรปฏิบัติอย่างไร หากได้รับความไม่เป็นธรรมจากการทวงหนี้
เจ้าหนี้ควรรู้
ลูกหนี้เหนียวหนี้สุด ๆ แต่จะทวงหนี้ได้อย่างไรถึงจะไม่ผิดกฎหมาย และสามารถจ้างวางให้คนอื่นทำหน้าที่ทวงหนี้แทนได้หรือไม่ ใครเป็นเจ้าหนี้ควรเข้ามาดู รู้ไว้ก่อนทวงหนี้ ก่อนจะกลายเป็นฝ่ายเสียเงินค่าปรับแทนที่จะได้เงินคืน
1. "ผู้ทวงถามหนี้" คือ เจ้าหนี้ ผู้ให้กู้เงิน ไม่ว่าจะโดยถูกกฎหมายหรือไม่ก็ตาม รวมถึงผู้ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ให้ทวงถามหนี้ อาทิ บริษัทรับทวงหนี้
2. "ธุรกิจทวงถามหนี" คือ ผู้ประกอบธุรกิจรับจ้างทวงหนี้ ซึ่งต้องได้รับการจดทะเบียนทวงถามหนี้ต่อนายทะเบียน กรณีผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้เป็นทนายความ ให้จดทะเบียนกับสภาทนายความ ผู้ฝ่าฝืนไม่ไปจดทะเบียนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
3. กรณีผู้ที่ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้อยู่หน้านี้ ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภายใน 90 วันนับแต่วันที่ พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้ (2 กันยายน) โดยระหว่างนี้ให้ยังประกอบธุรกิจได้อยู่
4. ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น ทหาร ตำรวจ ประกอบธุรกิจรับทวงหนี้ หรือไปช่วยคนอื่นทวงหนี้ที่ไม่ใช่หนี้ของตัวเอง เว้นแต่เป็นหนี้ของสามีภรรยา พ่อแม่ หรือลูก ให้สามารถทำได้ภายใต้กรอบของกฎหมาย ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไมเกิน 500,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
5. ห้ามทวงหนี้กับคนที่ไม่ใช่ลูกหนี้ เว้นแต่เป็นบุคคลที่ลูกหนี้ระบุให้ไปทวงถาม โดยมีข้อปฏิบัติคือ
- ผู้ทวงหนี้ต้องแสดงตัว แจ้งชื่อ-สกุล พร้อมแสดงเจตนาว่าต้องการถามหาข้อมูลเพื่อติดต่อลูกหนี้
- ผู้ทวงหนี้ห้ามเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ ยกเว้นผู้ที่ได้ติดต่อนั้นเป็นสามี ภรรยา พ่อ-แม่ หรือลูกของลูกหนี้ โดยให้บอกเล่าเท่าที่จำเป็น
- ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมาย
- ห้ามหลอกลวงหรือทำให้บุคคลอื่นเข้าใจผิด เพื่อให้ได้ข้อมูลของลูกหนี้
- ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
6. การทวงถามหนี้ ให้ปฏิบัติ ดังนี้
พ.ร.บ.ทวงหนี้ 2558
- ติดต่อลูกหนี้ตามสถานที่ติดต่อที่ให้ไว้
- ติดต่อในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-20.00 น. และในวันหยุดราชการ เวลา 8.00-18.00 น. หากฝ่าฝืนจะถูกสั่งระงับการดำเนินการ และหากยังฝ่าฝืนซ้ำจะถูกโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท
- ติดต่อตามจำนวนครั้งที่เหมาะสม
- กรณีเป็นผู้รับมอบอำนาจให้ทวงหนี้ต้องแสดงหลักฐานด้วยว่าตนเองได้รับมอบหมายมา
ลูกหนี้ควรรู้
ถูกเจ้าหนี้หน้าโหดตามมาทวงเงินถึงที่ หากถูกข่มขู่คุกคามจะทำอย่างไรดี แถมใช้ลูกไม้มาหลอกทวงหนี้กันแบบนี้ จะมีใครเข้ามาดูแลได้บ้างนะ และการถูกปฏิบัติแบบใดที่ถือว่าไม่เป็นธรรม จำข้อกฎหมายเหล่านี้เอาไว้ จะได้ไม่ถูกเจ้าหนี้เอาเปรียบ
1. ข้อห้ามปฏิบัติของผู้ทวงหนี้
- ข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ทำให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายหรือทรัพย์สิน ผู้ฝ่าฝืนจําคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
- พูดจาไม่สุภาพ ดูหมิ่น ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
- เปิดเผยความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้คนอื่นได้รู้ ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
- ทวงหนี้ผ่านไปรษณีย์ หรือโทรสาร โดยมีข้อความแสดงการทวงหนี้ชัดเจน ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
- ห้ามระบุข้อความ เครื่องหมาย หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมาย ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
2. ห้ามทวงหนี้แบบหลอกให้เข้าใจผิด
- ส่งเอกสารทำให้ลูกหนี้เข้าใจผิดว่าเป็นการกระทำของศาล เช่น ส่งเอกสารที่มีตราครุฑมาให้ลูกหนี้ ผู้ฝ่าฝืนจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
- ทำให้เชื่อว่ามีการส่งหนังสือบอกกล่าวทวงถาม (Notice) จากทนายความ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
- ใช้เอกสารที่ทำให้ลูกหนี้เข้าใจผิดว่าจะถูกดำเนินคดี หรือถูกยึดทรัพย์ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
- แอบอ้างว่าเป็นการทวงหนี้จากบริษัทข้อมูลเครดิตใด ๆ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
3. การทวงถามหนี้ไม่เป็นธรรม ห้ามปฏิบัติดังนี้
- เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ในอัตราเกินกว่าที่กำหนด
- เสนอให้ลูกหนี้สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าลูกหนี้ไม่มีเงินชำระหนี้ตามเช็ค ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
4. คณะกรรมการกํากับการทวงถามหนี้ มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการทวงหนี้ของผู้ทวงถามหนี้ โดยหากลูกหนี้หรือคนอื่น ๆ ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือไม่เป็นไปตามกฎหมายจากผู้ทวงถามหนี้ สามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการกํากับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัด
5. ให้ที่ทำการปกครอง หรือกองบัญชาการตำรวจนครบาล มีอำนาจรับร้องเรียนการทวงหนี้ผิดกฎหมาย ติดตามพฤติกรรมของผู้ทวงถามหนี้
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
ราชกิจจานุเบกษา
ขอขอบคุณบทความจาก : http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=fairness&month=03-05-2016&group=1&gblog=150