ดอกบัวก็เหมือนกับคนเรานี้เอง ดอกบัวที่ชูดอกพ้นจากผิวน้ำขึ้นมารับแสงสว่างได้นั้น ก็เหมือนกับ ผู้ที่หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง
กลายเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม ซึ่งถือเป็นความหมายอันลึกซึ้งและเป็นมงคลยิ่งนัก
"บัว” ถือเป็นพืชไม้น้ำที่มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต ความเชื่อทางศาสนาและเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์และความเบิกบาน ซึ่งเห็นได้จากการนำดอกบัวมาใช้ประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาอยู่เสมอ ครูอิงเคยศึกษาจึงนำมาลำดับความ พบว่า “บัว” เป็นดอกไม้ที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติอยู่หลายตอน หลายเหตุการณ์
เหตุการณ์แรก เมื่อพระโพธิสัตว์ ซึ่งต่อมาคือเจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จจากสวรรค์ชั้นดุสิต เพื่อเข้าสู่พระครรภ์พระมารดา วันที่เสด็จลงมาบังเกิดนั้น คืนนั้น พระนางสิริมหามายา พระมารดาทรงมีพระสุบินนิมิตว่า พระนางได้เข้าไปอยู่ในป่าหิมพานต์ ได้มีช้างเผือกเชือกหนึ่ง ลงมาจากยอดเขาสูง เข้ามาหาพระนางปฐมสมโพธิ พรรณนาเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า“มีเศวตหัตถีช้างหนึ่ง...ชูงวงอันจับปทุมชาติสีขาว มีเสาวคนธ์หอมฟุ้งตรลบ แล้วร้องโกญจนาทเข้ามาในกนกวิมาน แล้วกระทำประทักษิณพระองค์อันบรรทมถ้วนครบสามรอบแล้ว เหมือนดุจเข้าไปในอุทรประเทศ ฝ่ายทักษิณปรเศว์แห่งพระราชเทวี...”ในขณะนั้น ได้เกิดบุพนิมิตขึ้น ๓๒ ประการ ประการที่เกี่ยวกับดอกบัวคือ มีดอกบัวปทุมชาติหรือบัวหลวง ๕ ชนิด อันได้แก่
เหล่าปทุมชาติ เกิดดารดาษไปในน้ำและบนบกอย่างหนึ่ง ผุดงอกขึ้นจากแผ่นหินแห่งละเจ็ดดอกอย่างหนึ่ง และต้นพฤกษาลดาชาติ ก็เกิดดอกบัวออกตามลำต้นและกิ่งก้านอีกอย่างหนึ่ง
เหตุการณ์ที่สอง เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ เมื่อทรงก้าวลงจากพระครรภ์ ทรงผินพระพักตร์ไปยังทิศอุดร ชี้พระดรรชนีขึ้นฟ้า แล้วเสด็จดำเนินไป 7 ก้าว แต่ละก้าวมีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับ และทรงเปล่งอาสภิวาจา(วาจาอย่างองอาจ)ว่า "เราเป็นผู้เลิศของโลก เป็นผู้ใหญ่ที่สุดของโลก เป็นผู้ประเสริฐที่สุดของโลก นี้เป็นการเกิดครั้งสุดท้าย ไม่มีการเกิดใหม่อีกต่อไป” ดอกบัวที่ผุดขึ้นมารับพระบาทนี้ หมายถึงพระองค์จะเป็นผู้บริสุทธิ์ ปราศจากกิเลสโดย สิ้นเชิง ราชบัณฑิตยังให้ความเห็นเกี่ยวกับการที่พระพุทธองค์สามารถตรัสได้ทันทีที่ประสูติ ต่อคำถามที่ว่า เป็นเพียงสัญลักษณ์เปรียบเทียบถึงอะไร หรือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ท่านตอบว่ามีเขียนไว้ในพระไตรปิฎก โดยพระพุทธองค์ตรัสเล่าให้สาวกฟังด้วยพระองค์เอง โดยทรงสรุปสั้นๆว่า “เป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์” โดยท่านยกขึ้นเปรียบเทียบกับเด็กชาย ที่ได้บันทึกไว้ในกินเนสส์บุค คือ คริสเตียน ไฮเนเก้น ที่เกิดมาสองชั่วโมงก็พูดได้ อายุ ๔ ขวบ ก็พูดได้ ๗ ภาษา พออายุ ๗ ขวบ สามารถแสดงปาฐกถาเรื่องอภิปรัชญาชั้นสูงให้ที่ประชุมปราชญ์ได้ทึ่ง
เหตุการณ์ที่สาม เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ ๗ พรรษา พระราชบิดาโปรดให้ขุดสระโบกขรณี ๓ สระ สำหรับให้ทรงลงเล่นน้ำ โดยปลุกอุบลบัวขาบสระหนึ่ง ปทุมบัวหลวงสระหนึ่ง และบุณฑริกบัวขาวอีกสระหนึ่ง และเมื่อทรงตรัสรู้ ทรงเปรียบเวไนยสัตว์ อุปมาดังบัว สี่เหล่า คือ ดังที่ครูอิงได้เสนอไปแล้วในบันทึกก่อนนี้
เหตุการณ์ที่สี่ คือ ครหพินน์เจ็บใจที่สิริตุตถ์หลอกอาจารย์เดียรถีร์ของตนให้ตกลงไปในหลุมอุจจาะ จึงคิดแก้แค้น หลอกพระพุทธเจ้าอันเป็นอาจารย์ของสิริคุตถ์บ้าง โดยล่อให้ตกลงไปในหลุมที่ก่อไฟด้วยไม้ตะเคียน ปรากฏว่ามีดอกบัว ผุดขึ้นมารับพระบาทพระองค์
เหล่านี้คือเรื่องราวของ “บัว” ที่เกี่ยวข้องในพุทธศาสนา
คนไทยส่วนใหญ่มักจะใช้ดอกบัว ในการบูชาพระอยู่เสมอ แต่บัวที่เรานิยมปลูกไว้ภาย ในบ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคล คือ บัวหลวง บัวผัน บัวฝรั่ง บัวสาย และบัวกระด้ง
ความเชื่อในทางพุทธศาสนา ตั้งแต่สมัยโบราณว่า ดอกบัวก็เหมือนกับคนเรานี้เอง ดอกบัว ที่ชูดอกพ้นจากผิวน้ำขึ้นมารับแสงสว่างได้นั้น ก็เหมือนกับ ผู้ที่หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง กลายเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม ซึ่งถือเป็นความหมายอันลึกซึ้งและเป็นมงคลยิ่งนัก
คนโบราณจึงมึความเชื่อว่า ครอบครัวใดที่ปลูกบัวเอาไว้ประจำบ้าน ก็จะช่วยให้คนครอบครัวนั้น มีจิตใจที่บริสุทธิ์ สะอาด และเบิกบานแจ่มใส เช่นเดียวกับดอกบัว และยังเชื่ออีกว่า สายใยของบัวที่ยืดยาวนั้น คือสายสัมพันธ์ของครอบครัว จะทำให้ทุกคนมีความห่วงใยรักใคร่ และผูกพันต่อกันอย่างแนบแน่น ครอบครัวนั้น ก็จะมีแต่ความสุข เพราะความรักใคร่ปรองดองของคนในครอบครัวทุกคน
ดอกบัวสวยด้วยโคลนตมบ่มเพาะให้ แต่น้ำใสไล้ชูช่อทอแสงศรี
พุทธประวัติบันทึกไว้ดอกไม้ดี บุปผานี้เป็นศรีศาสน์รองบาทเดิน
บัวมีบุญกว่าเราหลายเท่านัก เห็นประจักษ์ดังบันทึกนึกแล้วเขิน
เกิดเป็นคนมีบุญเก่าต้องก้าวเดิน น่าขวยเขินถ้าไม่ทำตามพุทธองค์
__________________________
ขอขอบคุณบทความจาก : http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=angelonia17&month=15-11-2016&group=34&gblog=31