19 ปีที่รอคอย ในการป้องกันการเอาเปรียบจากนายจ้าง วันก่อนคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. … แก้ไขฉบับ ปี 2541 ที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน (รง.) เป็นเจ้าภาพ “ไตรภาคี”ที่เจ้ากระทรวง พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ออกมาย้ำว่า“ถือว่าเป็นประโยชน์สูงสุดต่อลูกจ้างล้วนๆ” ทั้ง เรื่องค่าตอบแทน วันลาของลูกจ้าง สิทธิ์ลาเพื่อตรวจครรภ์ อัตราค่าชดเชย รวมไปถึงบทลงโทษนายจ้าง ถือเป็นสิทธิ์ลูกจ้าง ที่รัฐบาลชุดนี้มอบให้ คาดว่าจะมีการประกาศใช้ได้ในเร็วๆ นี้
กฎหมายที่ตราขึ้นมาใหม่ สดๆร้อนๆ มีเนื้อหาสาระดังนี้ กำหนดให้เพิ่มเติมนิยาม“ค่าตอบแทน”ในมาตรา 5 หมายถึง เงินที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงาน นอกจากค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด โดยเพิ่ม“กำหนดอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15”ของค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าตอบแทน และเงินกรณีนายจ้างหยุดกิจการ เพื่อให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 จากของเดิมที่ใช้อัตราร้อยละ 7.5
กำหนดให้การเปลี่ยนตัวนายจ้าง ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง และให้นายจ้างใหม่รับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง
ที่น่าสนใจ กฎหมายใหม่ยังเพิ่ม“วันลาของลูกจ้าง”ซึ่งของเดิม มีเพียง“วันลาป่วย-ลากิจ-ลาทำหมัน-ลารับราชการทหาร -ลาคลอดบุตร ของลูกจ้างหญิงหนึ่งไม่เกิน90วัน โดยนับรวมวันหยุด และลาฝึกอบรม
ส่วนกฎหมายใหม่ จะกำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิ“ลากิจธุระอันจำเป็น”ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน และกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นหนึ่งไม่น้อยกว่าสามวันทำงาน
ตาม มาตรา 34 ฉบับเดิม บอกเอาไว้ว่า “มาตรา 34 ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน”ก็คือ นายจ้างกำหนดได้ว่า จะให้กี่วัน และเงื่อนไขใดบ้าง เพราะในกฎหมายแรงงานไม่ได้ระบุเอาไว้ถึงเรื่องนี้ และที่ระบุเอาไว้ มีเรื่องลาพักร้อน
"มาตรา30 ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหกวันทำงานโดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้าหรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน ในปีต่อมานายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างมากกว่าหกวันทำงานก็ได้ ของเดิม เขียนด้วยว่า นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังมิได้หยุดในปีนั้นรวมเข้ากับปีต่อ ๆ ไปได้ สำหรับลูกจ้าง ซึ่งทำงานยังไม่ครบหนึ่งปี นายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างโดยคำนวณให้ตามส่วนก็ได้"
ใน "มาตรา 32 เดิม ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง การลาป่วย ตั้งแต่สามวันทำงานขึ้นไป นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งของสถานพยาบาลของทางราชการ ในกรณีที่ลูกจ้างไม่อาจแสดงใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งหรือของสถานพยาบาลของทางราชการได้ ให้ลูกจ้างชี้แจงให้นายจ้างทราบ"
อีกประเด็นใหม่ว่าด้วย “หญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อตรวจครรภ์”
กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ มีสิทธิลาเพื่อตรวจครรภ์ในระหว่างตั้งครรภ์ได้ โดยเมื่อรวมกับการลาเพื่อคลอดบุตรแล้วครรภ์หนึ่งไม่เกินเก้าสิบวัน และกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงในวันลาเพื่อตรวจครรภ์ และเพื่อคลอดบุตรเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกินสี่สิบห้าวัน
ประเด็นนี้น่าจะเป็นเรื่องใหม่หลังจาก เมื่อ 24 ปีก่อน 8 มีนาคม 2536 ซึ่งเป็นวันสตรีสากล ที่คนงานหญิงจากโรงงานขนาดเล็ก พร้อมกับคนงานหญิงที่ตั้งครรภ์ รวมตัวกันเดินขบวนจากลานพระบรมรูปทรงม้าไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรี เรียกร้องสิทธิลาคลอด 90 วัน จนทำให้ ครม. สมัยนั้น มีมติให้แก้ไขกฎหมายให้ลูกจ้างหญิงมีสิทธิลาคลอด 90 วัน โดยได้รับค่าจ้าง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้กันมาถึงทุกวันนี้ครอบคลุมพนักงานบริษัทไม่เฉพาะคนงานหญิงในโรงงานประเด็นนี้ เมื่อก่อน กฎหมายเขียนว่า ให้ลูกจ้าง มีสิทธิ์ลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง และการไปฝากครรภ์ คือ เราไม่ได้ป่วย นายจ้าง จึงให้ใช้การลากิจ
แต่ครั้งใหม่นี้ “เมื่อตั้งครรภ์ ก็ยังมีสิทธิลาเพื่อตรวจครรภ์”อีกด้วย โดยจะได้ค่าแรงจากประกันสังคม 45 วัน และ45 วันจากนายจ้าง
ประเด็นต่อมาเรื่องของ“อัตราค่าชดเชย”กฎหมายเดิม ระบุถึง ค่าชดเชย หากนายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด ในกรณีที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิตการจำหน่าย หรือการบริการอันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่อง จักรหรือเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนลูกจ้างลง
รวมถึงค่าชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านี้ ให้ถือว่านายจ้างได้จ่ายค่าสินจ้างแทน การบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายด้วยนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยปกติ มีกำหนดที่ ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยในกรณีใดกรณีหนึ่ง
ขณะที่กฎหมายใหม่เพิ่ม "กำหนดอัตราค่าชดเชยเพิ่มเติมกรณีนายจ้างเลิกจ้างสำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ให้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วันสุดท้าย"
กล่าวคือ ทำงานครบ 20 ปี หากอยู่ๆ ก็ถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด จะได้รับค่าชดเชยสุดท้าย 400 วัน ซึ่งกฎหมายเดิม เขียนว่า ทำงานครบ 10 ปี จะได้ชดเชยสุดท้ายเพียง 300 วัน
สำหรับกฎหมายของเดิม ว่ากรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นอันมีผลกระทบ สำคัญต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว นายจ้างต้องแจ้งล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อน ย้าย ถ้าลูกจ้างไม่ประสงค์จะไปทำงานด้วย ลูกจ้างมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าร้อย ละห้าสิบของอัตราค่าชดเชยปกติที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิ์ได้รับ และถ้านายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างทราบการย้ายสถานประกอบกิจการล่วงหน้า นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษ แทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน
ในกฎหมายใหม่ เพิ่มว่า “กำหนดให้การย้ายสถานประกอบกิจการ ให้รวมถึงการย้ายไปที่ซึ่งนายจ้างมีสถานประกอบกิจการอยู่แล้วด้วย และให้นายจ้างแจ้งกำหนดการย้ายสถานประกอบกิจการให้ลูกจ้างทราบตามแบบที่อธิบดีกำหนด” ตรงนี้ ยังกำหนดให้เวลาการจ่ายค่าชดเชยพิเศษหรือค่าชดเชยพิเศษแทน การบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างโดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่สัญญาจ้างสิ้นสุด
ในประเด็นของ“บทกำหนดโทษ”ของเดิม เขียนว่านายจ้างผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ขั้นต่ำปรับไม่เกิน 5,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานคดีอาญา เป็นอันระงับ
ขณะที่ ในกฎหมายใหม่ เพิ่มกำหนดให้การดำเนินคดีอาญาต่อนายจ้างเป็นอันระงับไป หากนายจ้างปฏิบัติตามคำสั่งของ “คณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน” หรือกรณี“นายจ้างนำคดีไปสู่ศาล และได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแล้ว”ยัง กำหนดให้การดำเนินคดีอาญาต่อนายจ้างเป็นอันระงับไปกรณีที่นายจ้างปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ภายในระยะเวลาที่กำหนด
สุดท้ายกำหนดบทบัญญัติกำหนดโทษให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 17 วรรคสี่ กรณีจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ากรณีเลิกจ้างให้กับลูกน้อง มาตรา 23 วรรคสอง กรณีการจ่ายค่าตอบแทนลูกจ้างเมื่อทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมง
อีก 2 ประเด็นที่มีการแก้ไข คือใน มาตรา 55/1 กรณีนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็น มาตรา 118/1 กรณีเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุเกษียณอายุ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 155/1 โดยกำหนด“ยกเลิกขั้นตอน”ในการให้พนักงานตรวจแรงงานมีหนังสือแจ้งเตือนนายจ้างกรณีไม่ยื่นหรือไม่แจ้งแบบแสดงสภาพการจ้างและการทำงาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการดำเนินคดีนายจ้างกรณีไม่ยื่นหรือไม่แจ้งแบบแสดงสภาพการจ้างงานและการทำงานได้รวดเร็วขึ้นและเป็นการลดค่าใช้จ่ายกรณีจัดทำหนังสือเตือน
จากนี้ไปหลังจากส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณา โดยรับความเห็นของสำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปประกอบพิจารณา ขั้นตอนต่อไปก็จะส่งให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาตราเป็นกฎหมายต่อไป
แว่วมาว่า กระทรวงแรงงานจะไม่มีการปรับแก้กฎหมายฉบับนี้อีกแล้ว และ เร็วๆนี้ กฎหมายแรงงานฉบับใหม่ ก็จะประกาศใช้ต่อสาธารณชน มนุษย์เงินเดือน โดยทั่วไป
ขอขอบคุณบทความจาก : http://manager.co.th/Weekend/ViewNews.aspx?NewsID=9600000084850
มาเที่ยวเมืองเลย หรือ จะเช่ารถตู้จังหวัดเลย ต้องที่นี่ เลยแวน 59 หรือ สัญญารถตู้เมืองเลย