images  แล้ววันนั้น เฉ่ มะเขือพวง ก็ได้คิดว่าชีวิตของเขามันวาบหวิวเหมือนเดินตีนไม่ติดดิน ให้อ้างว้างอย่างว่าร่างกายทะลุเป็นปล้องอ้อปล้องแขม และหัวใจนั้นโบยบินอย่างว่าวติดลมบนเทียมเมฆโน้น

   เขาตื่นขึ้นมองเห็นฟ้าเขียวขรึม และสะเดาตายซากหน้าบ้านทอดก้านกิ่งเปลือยเปลือกของมัน คดโค้งเหมือนเรือนผมสยายของนารีร่ำไห้ ภูเขาเบื้องไกลโพ้น และวัวชิมเล็มหญ้าบนผืนดินแล้งน้ำ และเสียงนกระงมจากชายดงสะแกท้ายไร่ นั้นล้วนชวนให้โผยผวาในอกระทึกเต้น

   เขาก่อไฟหุงข้าวนั่งกอดเข่าคร่ำคิดพลางมองดูฟองมันค่อยจับกันเป็นหวอดขาว ละเอียดจับตามริมหยักปากหม้อดิน แล้วประเดี๋ยวมันจึงเดือดพล่านพลุ่งขึ้น ส่งกลิ่นข้าวใหม่หอมโชย เขาหยิบกระจ่ามาคนควัก เม็ดมันยังขาวอย่างหนอน เฉ่ มะเขือพวง มองมันอย่างพิกลว่าเหมือนมิเคยเห็น เขาให้รู้สึกพิกลไปเสียทั้งนั้น แม้แต่ปลาช่อนแห้งที่แขวนไว้ข้างฝาเหล่านั้นก็ดูมันผิดกว่าวันไหนอื่น ปลาสามปลาสี่เนื้อแดงชุ่มมันน่ากิน ผักเสี้ยนดองน้ำพริกถ้วยนั้น... เขารู้สึกหิว แต่แล้วกลับแค้นคอกินไม่ลง ให้รู้สึกเบื่อหน่ายเหลือจะเอ่ย ฝืนกินได้เพียงน้ำข้าวสองสามโฮก มวนยาใบตองดูด แล้วเร่งเดินออกจากบ้าน

...แบกความทุกข์ทนนั้นไปหารือยังเพื่อนพ้องที่ประชุม กันอยู่ถ้วนหน้า ณ เตาต้มเหล้าป่าโคนต้นหว้าใหญ่ชายดง เฉ่ มะเขือพวง ทอดถอนใจยวบหนักปานว่าฟ้าคำราม รับน้ำยอดใสและแรงรสถึงจุดไฟติดเปลวมาดื่มวาบเดียวเกลี้ยงจอก มันไชชอนเคี้ยวคดตามลำไส้แล้วดันวูบร้อนฉ่าขึ้นบนใบหน้าจนน้ำตาไหล แล้วเขาโพล่งออกมา "เห็นทีข้าจะต้องมีเมียแล้วล่ะเพื่อนเอ๋ย..."

  เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือที่จัดอยู่ในข่ายที่คนไทยควรอ่านร้อยเล่ม    เสเพลบอยชาวไร่ เป็นเรื่องเล่า ของวิถีชีวิต แบบเรียบง่ายของชาวบ้านภาคกลางในไทย ยุคที่ ระบบราชการ หรือ การแผ่อำนาจของรัฐไทยและระบบตลาดแบบทุนนิยม ยังแผ่เข้าไปได้ไม่ได้ชัดเจนนัก  การดำเนินชีวิตของคนแถบนี้ บ่งบอกถึงวิธีคิด ความเชื่อ ตามโลกียวิถีแห่งชนบทภาคกลางไทย ที่ทุกคนจะต้องมี ทุกข์ มีสุข มีทำบาปทำบุญ ปะปนกันไป หลักที่พยุงความเป็นกลุ่มเป็นก้อนอย่างปกติสุขจะเน้น วิถีแบบชุมชนมากกว่า การปกครองหรือการบังคับใช้กฏหมายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ     แม้ว่า ความเชื่อหลักของตัวละครจะเป็นแนวคิดตามพุทธศาสนา แต่ตลอดทั้งเล่ม ผู้อ่านจะเห็นการทำชั่ว และทำดี มากมายของตัวละครเอง ไม่ว่าจะเป็นการ ฆ่าสัตว์แปลก ๆ กิน การขโมยไก่วัด การผิดลูกผิดเมีย หรือการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่พวกพ้อง การให้ทาน   การกระทำทั้งดีและชั่ว ที่ผสมปนเปนของตัวละครแบบนี้ ต่างจากนิยายน้ำเน่า หรือละครน้ำเน่าหลังข่าว ซึ่งมักจะสร้างตัวละคร ที่ดี ก็ดีเหลือหลาย ร้ายก็ร้ายเหลือใจ

   ทั้งหมดทั้งมวลนี้สื่อให้เราเห็นว่า คนเราไม่มีใครดี บริสุทธิ์ หรือเลวบริสุทธิ์ มนุษย์เรา หาก มีชีวิตอยุ่ไปเรื่อย ๆ โดยไม่ใช่สติ กลั่นกรอง ให้ดี เราก็จะเวียนว่ายอยู่กับการ ทำดี และทำชั่วอยู่เช่นนี้
    ตอน ท้ายเรื่อง ผู้เขียน ได้ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ เมื่อกลุ่ม เสเพลบอยได้บอกลา ผู้ใหญ่บ้านเข้าไปผจญภัยในเมืองกรุง โดยจำนำไร่ ไว้กับเศรษฐี ผู้มีอันจะกิน  ตรงนี้บ่งชี้ให้เห็นถึงจุดเปลี่ยนของสังคมไทย ยุคที่ประเทศเริ่มกำลังวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในช่วงเริ่มต้นของพุทธศตวรรษที่ 25
ที่คนจากสังคมชนบท เริ่มอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาใช้แรงงานในเมืองหลวง
   จึงอาจกล่าวได้ว่า งานของรงค์ วงษ์สวรรค์เรื่อง "เสเพลบอยชาวไร่" ชิ้นนี้เปรียบเสมือน บันทึกแห่งความทรงจำซึ่งได้บรรยาย ชีวิตชนบทของไทย ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญก่อนที่ "วาทกรรมการเป็นประเทศพัฒนา" ในแบบตะวันตก จะได้สืบเท้าเข้ามาสู่รัฐไทย
    ด้วยเหตุนี้ผมจึงไม่แปลกใจเลยที่ "เสเพลบอยชาวไร่" จึงได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในหนังสือร้อยเล่มที่คนไทยควรอ่าน

 

 

 

credit by เสเพลบอยชาวไร่ผู้มียี่เกในหัวใจ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Go to top