ในกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เจ้าเมืองเชียงสม เชียงสา มีธิดาอยู่องค์หนึ่งนามว่า “ นางอินถวา” ซึ่งนอกจากจะมีรูปร่างสิริโฉมงดงาม เปล่งปลั่งแล้ว จิตใจของนางยังเปี่ยมล้นด้วยความเมตตากรุณา และในกาลครั้งนั้น นางยังอยู่ในวัยเด็ก ได้ลูกจระเข้ตัวหนึ่งมาเลี้ยงไว้ในโอ่งน้ำ เช้า – เย็นเธอก็จะนำเอาอาหารไปป้อนจระเข้ทุกวัน
{youtube}08OLcU8Ts8g{/youtube}
ในกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เจ้าเมืองเชียงสม เชียงสา มีธิดาอยู่องค์หนึ่งนามว่า “ นางอินถวา” ซึ่งนอกจากจะมีรูปร่างสิริโฉมงดงาม เปล่งปลั่งแล้ว จิตใจของนางยังเปี่ยมล้นด้วยความเมตตากรุณา และในกาลครั้งนั้น นางยังอยู่ในวัยเด็ก ได้ลูกจระเข้ตัวหนึ่งมาเลี้ยงไว้ในโอ่งน้ำ เช้า – เย็นเธอก็จะนำเอาอาหารไปป้อนจระเข้ทุกวัน
เมื่อจระเข้เติบโตขึ้น นางอินถวา ก็นำเอาไปปล่อยลงในสระน้ำเลี้ยงไว้ข้างคุ้มเจ้าเมือง วันเวลาได้ล่วงเลยมาจนกระทั่งเธอมีอายุได้16 ปี หรือวัยเต็มสาว เธอก็มีสิริโฉมอันงดงาม เปล่งปลั่ง เป็นที่หมายปองของเจ้าชายผู้ครองหัวเมืองน้อยใหญ่ทั่วไป แต่ความผูกพันของนางกับจระเข้ก็ยังมีความแน่นแฟ้นต่อกันอยู่เสมอ เธอออกไปหาจระเข้เพื่อขี่หลังจระเข้เพื่อหยอกเอิน อาบน้ำ ชำระร่างกาย และเก็บดอกบัวขึ้นไปบูชาพระเป็นประจำทุกวัน
เจ้า ชาละวันใหญ่ มันก็มักจะพาเธอดำผุดดำว่ายในสระน้ำด้วยความเบิกบานสำราญใจ เพราะมันก็มีความรักภักดีต่อนางเป็นอย่างยิ่ง และมีความสำนึกอยู่เสมอว่า นางเป็นผู้มีพระคุณเลี้ยงดูให้ที่อยู่อาศัยตั้งแต่เล็กจนโต
ตกเย็นวันหนึ่ง นางอินถวา ได้ขี่หลังเจ้าจระเข้ยักษ์ลงอาบน้ำในสระด้วยความสำราญใจ ขณะที่เธอกำลังสระผมอยู่นั้น หวีได้หลุดจากมือตกลงไปในน้ำ นางก็ใช้มือคว้าตาม จึงเป็นเหตุให้นางพลัดตกจากหลังจระเข้ลงไปในน้ำด้วย จระเข้ใหญ่เห็นเช่นนั้นก็เกรงว่านางผู้มีพระคุณจะจมน้ำตาย เพราะคิดว่าเธอว่ายน้ำไม่เป็น จึงพุ่งตัวเข้าไปใช้ปากคาบเอานางไว้
อาจจะเป็นเวรกรรมมาแต่ชาติปางไหนไม่ทราบได้ ตามธรรมชาติของจระเข้แล้ว มีขากรรไกรข้างบน เพียงด้านเดียว เมื่อมันงับหรือคาบอะไรไว้แล้วต้องกลืนลงท้องทุกรายไปก่อนจึงจะอ้าปากได้อีก เมื่อเป็นเช่นนี้เจ้าชาละวันใหญ่จึงกลืนนางลงท้องไป และมันก็ไม่สามารถขย้อนหรือสำรอกเอานางออกมาได้ จนกระทั่งนางถึงแก่ความตายในท้องของมัน ด้วยความกลัวต่ออาญาแผ่นดินในคดีฆ่าและกินผู้มีพระคุณเป็นอาหาร เจ้าจระเข้ยักษ์จึงตัดสินใจหลบหนีจากสระในคุ้มเจ้าเมือง ไปอาศัยน้ำปาววังน้ำใหญ่เป็นที่อาศัย หลบซ่อนตัว
เมื่อเรื่องราวต่าง ๆ ทราบถึงเจ้าเมือง ผู้เป็นบิดาของนางอินถวา ว่า ลูกสาวได้หายไปพร้อมกับจระเข้จึงมั่นใจว่า ลูกสาวต้องถูกเจ้าจระเข้คาบไปกินแล้วอย่างแน่นอน จึงสั่งให้อำมาตย์ เสนา น้อยใหญ่ออกติดตามโดยแกะรอยเท้าจระเข้ จากสระน้ำข้างคุ้มเจ้าเมืองไปจนถึงป่าแล้วหายๆไปในวังน้ำใหญ่ เจ้าเมืองจึงสั่งล้อมวังน้ำใหญ่นี้เอาไว้ ประกาศหาคนดีมีวิชาหรือ “ หมอจระเข้ ” มาปราบให้ได้
ต่อมาไม่กี่วัน ก็ได้มี” หมอจระเข้” มาปราบเจ้าชาละวันตัวใหญ่ ซึ่งหมอปราบจระเข้ 2 คนแรกเป็นชายผู้ขมังเวทย์ แต่ในที่สุดวิชาอาคมสู้เจ้าจระเข้ไม่ได้ จึงทำให้หมอจระเข้ทั้ง 2 คน กลาย เป็นอาหารอันโอชะของมันไป และอีกไม่กี่วันต่อมา หมอจระเข้คนที่ 3 ซึ่งเป็นผู้หญิง ก็อาสาสมัครเข้ามาปราบเจ้าชาละวันตัวเก่ง และเธอก็ใช้วิชาอาคม พร้อมทั้งไหวพริบปฏิภานอันเยี่ยมยอดเข้าปราบจระเข้ตัวนี้จนสำเร็จ
เมื่อจัดการผ่าท้องจระเข้ออก ก็ได้พบศพ “ หมอจระเข้ ” 2 คน รวมทั้งศพนางอินถวา ซึ่งยังมีเป็นบางส่วนหลงเหลืออยู่ เจ้าเมืองผู้เป็นบิดา มีความโศกเศร้าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ได้สั่งให้จัดการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้หมอจระเข้ 2 คน พร้อมประกาศชื่อวังน้ำใหญ่แห่งนั้นว่า “ วังสามหมอ ” มาตั้งแต่บัดนั้น และวังสามหมอแห่งนั้น ก็กลายมาเป็น อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี ในปัจจุบัน
ส่วนศพของลูกสาวนั้น เจ้าเมืองผู้เป็นบิดา ได้ให้นำไปฝังไว้ที่ข้างคุ้มเจ้าเมือง และต่อมาไม่นานนักสถานที่ฝังศพของลูกสาวเจ้าเมือง ก็มีต้นไม้ต้นหนึ่งมีดอกสีขาวสวยงามมากเกิดขึ้นมา เจ้าเมืองคงคิดถึงลูกสาวมากจึงตั้งชื่อต้นไม้ต้นนี้ว่า “ อินถวา ” มาตั้งแต่บัดนั้น
ต่อมาต้นอินถวาซึ่งมีดอกสีขาว ได้มีการปลูกกันแพร่หลายในภาคอีสาน เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดเลย และต่อมาได้แพร่พันธุ์ไปยังภาคกลางและภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย และต้นอินถวานี้ในตำราพืชเรียกว่า “ ต้นพุดซ้อน ” เป็นไม้ดอกที่ปลูกง่ายและปลูกได้ทุกเขตของดินฟ้าอากาศ และต้นไม้ชนิดนี้ มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษเรียกว่า ต้น “ คาดิเนีย ” อีกด้วย