v   เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์
สักพันชาติจักสู้ม้วยด้วยหฤหรรษ์
แม้นชีพใหม่มีเหมือนหวังอีกครั้งครัน
จักน้อมพลีชีพนั้นเพื่อมวลชน

 

  

   บทกวีข้างต้นเป็นของ อาเวตีก อีสากยัน (Awetik Issaakjan) กวีชาวอาร์เมเนีย เป็นหนึ่งในบทกวียอดนิยมที่ถูกนำไปสกรีนบนเสื้อยืดเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองมานักต่อนัก  จนกล่าวได้ว่าหากเป็นคอการเมือง คงไม่มีใครไม่เคยผ่านตา หรือรับรู้เรื่องราวของผู้แปลกวีบทนี้ ที่ชื่อ จิตร ภูมิศักดิ์

 

{youtube width="470"}MsW89jYwzQg{/youtube}
อย่างไรก็ดี เรื่องราวและผลงานของจิตรยังคงเป็นที่รับรู้กันในวงจำกัด และบางช่วงบางตอนถูกบิดเบือน กระทั่งกลบฝังให้ตายไปจากสังคมอย่างจงใจ

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะเขาเปรียบเป็นภาพแทนของนักสู้เพื่อประชาชน ทว่าเป็นปีศาจที่หลอกหลอนบรรดาชนชั้นนำผู้มีอำนาจ

จิตร ภูมิศักดิ์ เกิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2473 ที่ตำบลประจันตคาม อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี เป็นบุตรของ ศิริ ภูมิศักดิ์ นายตรวจสรรพสามิต กับ แสงเงิน (ฉายาวงศ์) มีพี่สาวหนึ่งคน คือ ภิรมย์ ภูมิศักดิ์

ช่วงสำคัญในชีวิตวัยเรียนของจิตรคือ ระหว่างปี พ.ศ.2484-2489 

ผู้เป็นพ่อย้ายไปรับราชการที่จังหวัดพระตะบอง จิตรจึงเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่นั่น ทำให้เขามีโอกาสศึกษาภาษาฝรั่งเศสและภาษาเขมรจนเชี่ยวชาญ 

เมื่อสงครามอินโดจีนสิ้นสุดลง ไทยต้องคืนพระตะบองให้เขมร หลังจากนั้นไม่นานพ่อและแม่ของจิตรตัดสินใจแยกทางกัน 

โดยแม่ย้ายไปอยู่จังหวัดลพบุรี พี่สาวและจิตรมาเรียนต่อที่กรุงเทพมหานคร ต่อมาจิตรสอบไล่ได้เตรียมสอง (ม.ศ.5) โรงเรียนเตรียมอุดม ก่อนจะสอบเข้าเรียนต่อที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปีการศึกษา พ.ศ.2493 

ที่คณะอักษรศาสตร์ จิตรมีโอกาสศึกษาและคลุกคลีกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ชื่อดัง อาทิ ดร.วิลเลียม เจ.เก็ดนี่ย์ อดีตที่ปรึกษาหอสมุดแห่งชาติ โดยเขาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของ ดร.วิลเลียม 



 

alt

ร่วมขับขานบทเพลงและบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ 
โดย อาทิตย์ บำรุงเอื้อ และคณะ





อีกทั้งยังได้เรียนวิชาภาษาไทยกับศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน ซึ่งมีเกร็ดเล่าว่าจิตรสอบได้ 100 คะแนนเต็ม แต่พระยาอนุมานราชธนหักคะแนนออกเสีย 3 คะแนน เพื่อไม่ให้ได้ใจ

ด้วยความสามารถอันโดดเด่น จิตรได้รับตำแหน่งเป็นสาราณียกรของมหาวิทยาลัย ทำหน้าที่จัดทำหนังสือ 23 ตุลาคม ประจำปี พ.ศ.2496 ซึ่งเป็นชนวนให้เขาต้องถูกสอบสวนที่หอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

เพราะหนังสือมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ค่านิยมล้าสมัยของสังคม กระทั่งนำไปสู่การ "โยนบก" ลงมาจากเวที ทำให้เขาได้รับบาดเจ็บ ต้องพักรักษาตัวเป็นเวลาหลายวัน จากนั้นคณะกรรมการของมหาวิทยาลัยสั่งพักการเรียนเขาเป็นเวลา 1 ปี

ขณะที่พักการเรียนเขาเข้าทำงานเป็นอาจารย์สอนภาษาไทยที่โรงเรียนอินทรศึกษาได้ระยะหนึ่ง ก่อนจะไปทำงานที่ "หนังสือพิมพ์ไทยใหม่" ซึ่งมี สุภา ศิริมานนท์ นักหนังสือพิมพ์ชั้นครูเป็นบรรณาธิการ ต่อมาในปี พ.ศ.2498 จิตรกลับเข้าเรียนต่อ กระทั่งจบการศึกษาในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500

เริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ และเป็นอาจารย์พิเศษวิชาภาษาอังกฤษที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ขณะนั้นจิตรเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์ศิลปะไว้ในหนังสือรับน้องใหม่ของศิลปากร ปี พ.ศ.2500 

โดยชี้ให้เห็นว่าศิลปะต้องรับใช้ประชาชน ซึ่งต่อมาสำนักพิมพ์เทเวศน์ได้นำไปรวมพิมพ์เป็นหนังสือ "ศิลปเพื่อชีวิต" ในนามปากกา "ทีปกร"

ด้วยเนื้อหาที่มีความแหลมคม ประกอบกับประวัติการทำกิจกรรมทางการเมืองของจิตร เป็นผลให้เช้าตรู่ของวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2501 เขาถูกจับกุมในข้อหา "มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์" ภายใต้ระบอบเผด็จการของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เขาถูกคุมขังในสถานที่ต่างๆ ประมาณ 3 แห่ง คือ กองปราบฯปทุมวัน เรือนจำลาดยาวใหญ่ และเรือนจำลาดยาวเล็ก 



alt

(บน) พิธีผูกข้อมือนักปฏิวัติอาวุโส 
(ล่าง) สันติ พิเชฐชัยกุล ประติมากรระดับโลก 
ปั้นรูปเหมือนจิตร แสดงแก่ผู้เข้าชมงาน





ระหว่างถูกคุมขังใน "มหาวิทยาลัยลาดยาว" จิตร ได้ทำงานเขียนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานวิชาการ งานวรรณกรรม ตลอดจนการประพันธ์เพลง และบทเพลง "แสงดาวแห่งศรัทธา" ก็ถูกเขียนขึ้นที่นี่ 

นอกจากจิตรแล้ว ปัญญาชนหัวก้าวหน้าอีกหลายคนก็ถูกคุมขังอยู่เช่นเดียวกัน อาทิ เปลื้อง วรรณศรี, อิศรา อมันตกุล และ ทองใบ ทองเปาด์ เป็นต้น

จิตรถูกคุมขังโดยไม่มีความผิดนาน 6 ปี จนศาลกลาโหมยกฟ้อง เขาจึงได้รับรับการปล่อยตัว ในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2507 ออกมาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองได้ไม่นาน 

เดือนตุลาคม พ.ศ.2508 เขาได้เดินทางสู่ภาคอีสานเข้าร่วมจับอาวุธต่อสู้ ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ใช้ชื่อจัดตั้งว่า "สหายปรีชา" ปฏิบัติงานมวลชนบริเวณดงพระเจ้า จังหวัดสกลนคร

เสียชีวิตในฐานะ "นักปฏิวัติ" เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2509 ขณะรับอาสาเข้าไปขอข้าวชาวบ้าน ที่บ้านหนองกุงเพียงคนเดียว และถูกล้อมยิงโดยกำนันและกลุ่มทหารอาสา ที่ได้เบาะแสจากเจ้าของบ้าน ที่ชายป่าบ้านหนองกุง ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร ด้วยวัยเพียง 35 ปี

เนื่องในโอกาสครบรอบ 82 ปี ทางมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ จึงได้จัดงานรำลึกขึ้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน ที่ผ่านมา ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีกิจกรรมต่างๆ อาทิ พิธีมุทิตาจิต ผูกข้อมือนักปฏิวัติอาวุโส การแสดงดนตรีและบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ 

ตลอดจนการระดมทุนเพื่อก่อสร้างอนุสรณ์สถานจิตร ภูมิศักดิ์ ที่บ้านหนองกุง โดยมี ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ประธานมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ เป็นหัวเรือใหญ่ 

ชาญวิทย์กล่าวว่า จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นนักคิดนักเขียนคนสำคัญ งานขีดเขียนจำนวนมากของจิตร ภูมิศักดิ์ เป็นการก่อกระแสให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และได้เปิดศักราชของวิธีการมองสังคมใหม่ โดยเฉพาะในแง่มุมของชนชั้น

"จิตรเป็นนักปฏิวัติ ดังนั้น รัฐไทยที่มีลักษณะอนุรักษนิยมสูงและไม่เป็นประชาธิปไตย จึงพยายามปิดกั้นความคิดแบบจิตร ภูมิศักดิ์ เขาถูกทำให้หายไปจากการรับรู้ของผู้คน งานเขียนในยุคแรก ช่วงปี พ.ศ.2490 มาถึง พ.ศ.2500 ก็จะถูกกลบดินไป 

แต่แล้วมันเกิดขึ้นใหม่ ช่วงก่อนและหลัง 14 ตุลาคม 2516 โดยเฉพาะบทกวีและหนังสือโฉมหน้าศักดินาไทย เป็นที่ฮือฮากันมากในหมู่ของเยาวชนคนหนุ่มสาวในยุคนั้น แต่เมื่อมีการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 เขาก็ถูกกลบหายไปอีก" นักประวัติศาสตร์ชั้นครูกล่าว 

ชาญวิทย์กล่าวอีกว่า เรื่องราวและผลงานของจิตร เพิ่งจะถูกรื้อฟื้นขึ้นใหม่ โดยเฉพาะในหมู่นักวิชาการรุ่นใหม่ เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานวิชาการที่แสดงความสามารถอันเอกอุของจิตร เช่น "ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ" เป็นต้น 

"จากนั้นผมก็คิดว่าควรมีการผลักดันให้เกิดมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ ให้มีการศึกษาชีวิตและงานของจิตร แล้วก็ตามมาด้วยการสร้างอนุสรณ์สถาน ซึ่งดำเนินการมาใกล้จะเสร็จแล้ว ตั้งใจว่าในช่วงวันที่ 5 พ.ค.2556 จะเปิดอนุสาวรีย์ที่บ้านหนองกุง จังหวัดสกลนคร" ประธานมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

พร้อมกันนี้ ทางมูลนิธิได้เตรียมจัดสร้างอนุสรณ์สถานจิตร ภูมิศักดิ์ ที่บ้านหนองกุง อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร ซึ่งเป็นสถานที่ที่จิตรเสียชีวิต โดยในอนุสรณ์สถานนี้จะมีรูปปั้นเต็มตัวของจิตร ภูมิศักดิ์ ลานนิทรรศการประวัติความเป็นมา รวมถึงผลงานที่จิตรสร้างสรรค์ไว้ ไม่ว่าจะเป็น บทกวี เรื่องสั้น ความเรียง งานวิชาการต่างๆ

สมทบทุนในการจัดสร้างอนุสรณ์สถานจิตร ภูมิศักดิ์ สามารถโอนเงินเข้า "บัญชีกองทุนอนุสรณ์สถานจิตร ภูมิศักดิ์ ธนาคารกรุงไทย สาขามหานาค ออมทรัพย์ เลขที่ 156-0-06158-8"

ร่วมเขียนประวัติศาสตร์ของนักปฏิวัติสามัญชนให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป

หน้า 20; มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 16 ตุลาคม 2555


ขอบคุณ 
มติชนออนไลน์
มติชนรายวัน 
คุณชัชชล อัจนากิตติ

 

ที่มา : http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=letalia&month=17-10-2012&group=2&gblog=23

 

 

Go to top